“ยิ่งวิ่งยิ่งเก่ง” หรือ “ยิ่งวิ่งยิ่งเจ็บ” คุณเลือกได้
ยิ่งวิ่งยิ่งเก่ง อันที่จริงเกี่ยวกับเรื่องนี้ผมเคยบอกไว้บางส่วนแล้วล่ะ ในบทความครั้งก่อน ๆ ซึ่งบางคนอาจจะคิดว่าอาการบาดเจ็บมันเป็นของคู่กับนักวิ่งอยู่แล้ว หรือบางคนก็อาจจะคิดว่า “อ่อนไงเลยเจ็บ คนแกร่งจริง วิ่งยังไงก็ไม่เจ็บหรอก” … เอางี้ดีกว่า คุณลองมาอ่านสิ่งที่ผมจะเอามาพูดคุยในวันนี้ก่อน ก่อนจะตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่อผม
>> ร่างกายคนเรามีพื้นฐานหรือต้นทุนไม่เท่ากัน
ก่อนวิ่งคุณเคยเล่นกีฬาอะไรมาก่อนบ้างไหมครับ หรือแค่เล่นในชั่วโมงพละสมัยเรียนก็หอบตัวโยนจนแทบจะตายคาสนามแล้ว … นี่แหละที่จะตอบได้ว่า ร่างกายของคุณมีพื้นฐาน หรือ ต้นทุนมามากน้อยแค่ไหน หรืออาจจะไม่มีเลย ด้วยความที่ต้นทุนของความแข็งแรงในร่างกายแต่ละคนไม่เท่ากัน ความเสี่ยงต่ออาการบาดเจ็บจึงมีไม่เท่ากัน สมมติคุณเคปั่นจักรยานมาก่อนจะเริ่มวิ่ง ความเสี่ยงที่จะเกิดอาการบาดเจ็บก็จะต่ำกว่าคนที่ไม่เคยออกกำลังกายเลย ดังนั้นเมื่อคุณเกิดอาการบาดเจ็บ อย่าไปคิดว่าเพราะคุณมัน “อ่อน” แต่ต้องหาสาเหตุว่า เราทำอะไรตรงไหนไม่ถูกวิธี จึงทำให้เกิดอาการบาดเจ็บขึ้น แล้วค่อยแก้ไขปัญหาให้ตรงจุด
>> หากคุณเลือก “ยิ่งวิ่งยิ่งเจ็บ”
ไม่ยุ่งยากเลยจริง ๆ ครับ พับเผื่อน!!! แค่วิ่งไปตามที่ใจอยากจะวิ่ง อยากวิ่งทุกวันก็วิ่งทุกวัน ไม่ต้องพัก เจ็บแล้วแต่อยากวิ่งก็ออกไปวิ่ง ไม่ต้องพัก อยากเพิ่มระยะทางไว ๆ ก็ใส่ให้เต็มที่ ไม่ต้องยั้ง เรื่องยืดเหยียดอะไรพวกนี้ก็ลืม ๆ มันไป ไม่ต้องทำ ยิ่งเรื่องพื้นฐาน หรือต้นทุนร่างกายอะไรนี่ไม่ต้องคำนึงถึงเลย แม้ว่าเราจะไม่เคยออกกำลังกายมาก่อน แต่ถ้าใจเราสู้ เราเริ่มจากการวิ่งได้เลย ไม่ต้องเดินสลับวิ่งก่อนให้มันดูอ่อน จัดไปเต็ม ๆ ตามที่ใจอยากจะทำ … สำหรับคนที่มีไอเดียเหล่านี้ ไอเดียที่ไม่คิดจะถนอมร่างกายเลย ไม่คิดจะช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นให้ร่างกายก่อนออกวิ่งเลย ผมคงทำได้แค่อวยพรขอให้คุณโชคดีกับเส้นทางที่คุณเลือกครับ … บอกเลยว่าเจ็บปวดร่างกายสุดติ่งแน่นอน
>> หากคุณเลือก “ยิ่งวิ่งยิ่งเก่ง”
สิ่งแรกที่ต้องทำ คือ ศึกษาเกี่ยวกับการวิ่งอย่างถูกต้อง อันนี้ประสบการณ์ตรงของตัวผมเองเลยครับ เคยกระหยิ่มยิ้มย่อง คิดว่าตัวเองวิ่งเก่ง พัฒนาได้เร็ว เพิ่มระยะได้ไว แต่รื่นเริงอยู่ได้ไม่นานก็เหมือนนกปีกหักดังเป๊าะ! เพราะไม่มีความรู้ที่ถูกต้องเกี่ยวกับการวิ่ง ซึ่งการจะวิ่งให้เก่ง ต้องรู้ ต้นทุนของร่างกายตัวเองแล้วปรับการวิ่งให้เหมาะสม ไม่ลืมให้ความสำคัญกับการยืดเหยียดก่อน และหลังวิ่ง รู้ว่าต้องวอร์มอัพ และคูลดาวน์ รู้ว่าต้องมีวันพัก ไม่ใช่ตะบี้ตะบันวิ่งหนัก วิ่งยาวมันซะทุกวัน และต้องเล่นกีฬา หรือออกกำลังกายชนิดอื่นควบคู่ไปด้วย จะเลือก ปั่นจักรยาน , โยคะ , กระโดดเชือก , เวท , ว่ายน้ำ หรือกีฬาอื่นๆ อะไรก็แล้วแต่ใจ สลับกันไป การออกกำลังกายแบบนี้ก็เพื่อให้กล้ามเนื้อทุกส่วนแข็งแรงขึ้น รวมถึงช่วยให้กล้ามเนื้อส่วนที่ไม่ค่อยได้ใช้งาน ได้กลับมาใช้งาน ซึ่งมันจะช่วยเสริมให้การวิ่งดีขึ้นตามไปด้วย รวมถึงอย่าลืมสลับความหนักเบาในการซ้อมวิ่ง เพราะการซ้อมที่หนัก หรือเบาเกินไป ต่างก็ไม่ส่งผลดีต่อพัฒนาการวิ่งด้วยกันทั้งคู่
ที่อธิบายมาซะยาวก็เพราะผมอยากจะให้เพื่อน ๆ พี่ ๆ น้อง ๆ นักวิ่งทราบว่าเราสามารถเลือกที่จะวิ่งแบบไม่เจ็บได้ ไม่จำเป็นต้องทุกข์ระทมขมขื่นอยู่กับอาการบาดเจ็บเรื้อรังวนเวียนยาวนาน เจ็บไปเจ็บมาทุกวัน มันไม่สนุกหรอกครับ รับรักผมสนุกกว่า ฮิ้ววว!!