7 สาเหตุของการ DNF ที่พบบ่อยที่สุด พร้อมวิธีป้องกัน
แม้ว่าเราจะใช้เวลาหลายเดือนในการฝึกฝนและทุ่มเทให้กับการแข่งขันครั้งนี้ แต่ในบางครั้งทุกอย่างมันก็ไม่ได้เป็นไปตามแผนที่เราวางไว้เสมอไป บทความนี้จึงอยากชวนเพื่อนๆ นักวิ่งทุกคน มาศึกษา 7 สาเหตุของการ DNF ที่พบบ่อยที่สุด พร้อมวิธีป้องกัน เพื่อเตรียมรับมือกับมันให้ดีที่สุด
#1 อุบัติเหตุ
ระหว่างทางเราอาจจะต้องพบกับเหตุการณ์ที่คาดไม่ถึง อย่างเช่น หกล้ม ข้อเท้าแพลง หน้ามืดเป็นลม หรือส่วนใดส่วนหนึ่งในร่างกายเกิดบาดเจ็บขึ้นมากะทันหัน ซึ่งมันเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยาก และไม่มีใครอยากให้เกิด
แต่ถ้ามันเกิดขึ้นมาแล้ว ให้ลองประเมินอาการของตัวเองและตัดสินใจโดยอิงจากสภาพร่างกายตามความเป็นจริง ถ้าไหวค่อยไปต่อ แต่ถ้าไม่ไหวก็จงหยุดซะ เพราะหากเราฝืนแข่งต่อไป นอกจากจะจบไม่สวยแล้ว อาจจะยิ่งทำให้อาการบาดเจ็บหนักยิ่งขึ้น โดยเฉพาะถ้าเป็นสัญญาณการบาดเจ็บที่อันตรายถึงชีวิตได้ เช่น แน่นหน้าอก อย่างที่เราเคยได้เห็นกันในข่าว ดังนั้น อย่าประมาท และประเมินตามจริง ปลอดภัยที่สุด
วิธีป้องกัน
ฝึกความแข็งแกร่งด้วย Strength training เพื่อเสริมสร้างข้อต่อและกล้ามเนื้อ เพิ่มความคล่องตัว การประสานงาน ความคล่องแคล่ว และความยืดหยุ่น สิ่งเหล่านี้จะช่วยลดความเสี่ยงในการเกิดอุบัติเหตุขณะลงแข่งได้
#2 ขาดเชื้อเพลิง
เมื่อเราสำรองพลังงานในร่างกายไม่เพียงพอ จะทำให้มีความเสี่ยงในการเกิดอาการชนกำแพงได้ อยู่ๆจะรู้สึกว่าร่างกายหมดแรงไปซะดื้อๆ ก้าวขาไม่ออก หน้ามืด ถ้าในวงการมาราธอนก็จะเรียกว่าปีศาจกิโลที่ 35 ซึ่งเมื่อเกิดอาการนี้แล้ว หลายๆคนจะหมดกำลังใจในการวิ่ง และทำให้เราไปไม่ถึงเส้นชัยในที่สุด
วิธีป้องกัน
เตรียมร่างกายก่อนแข่งให้ดี เช่น โหลดคาร์บช่วง 2-3 วันก่อนแข่ง แนะนำว่าควรทานคาร์โบไฮเดรต 6-10 กรัมต่อน้ำหนักตัว 1 กก. โดยเฉพาะกลุ่มคาร์โบไฮเดรตเชิงซ้อนที่มีค่า GI ต่ำ แต่ก็ต้องระวังอย่าทานคาร์บมากไป เพราะมันอาจทำให้เรารู้สึกขาหนักๆก่อนแข่งได้
#3 ภาวะขาดน้ำ
ถ้านักวิ่งเกิดภาวะสูญเสียน้ำมากเกินไป และไม่ได้รับการดื่มทดแทนเพียงพอ จะทำให้ประสิทธิภาพลดลง และเพิ่มความเสี่ยงต่อ Heat stroke ซึ่งเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
สัญญาณของภาวะขาดน้ำที่ควรระวัง: ปากแห้ง กระหายน้ำมาก เหนื่อยล้า เวียนหัว ตะคริว ปัสสาวะสีเข้ม ถ้ามีอาการเหล่านี้ให้พยายามดื่มน้ำ และหยุดขอความช่วยเหลือที่จุดพยาบาล
วิธีป้องกัน
ให้เริ่มดูแลเรื่องความชุ่มชื้นให้ร่างกายตั้งแต่ช่วงฝึกซ้อม เราควรทดสอบเหงื่อเพื่อดูว่าจริงๆ แล้วเรามีเหงื่อออกมากแค่ไหนต่อชั่วโมง
วิธีทดสอบเหงื่อ
- ชั่งน้ำหนักตัวเองโดยไม่สวมเสื้อผ้าหรือรองเท้าวิ่ง
- วิ่งเป็นเวลาหนึ่งชั่วโมง โดยใช้ระดับความเร็วเป็นเพซแข่ง
- หลังจากวิ่งครบชั่วโมงแล้ว ให้ถอดรองเท้าและเสื้อผ้า เช็ดตัวออก แล้วชั่งน้ำหนักอีกครั้ง
สูตรคำนวณ คือ น้ำหนักก่อนวิ่ง – น้ำหนักหลังการวิ่ง = มิลลิลิตร (หรือออนซ์) ที่ใช้ต่อชั่วโมง
จะได้ปริมาณเหงื่อที่ร่างกายขับออก ซึ่งเป็นปริมาณน้ำที่เราต้องเติมเข้าไปนั่นเอง สิ่งสำคัญ! ระหว่างการวิ่ง ห้ามดื่ม ห้ามฉี่! ไม่อย่างนั้นจะต้องวัดปริมาณของเหลวที่เราเติมเข้าหรือขับออก เพื่อเพิ่มหรือลบออกจากยอดรวม
#4 บาดเจ็บที่เท้า
การวิ่งระยะทางไกลต่อเนื่องเป็นเวลานาน ระหว่างทางเท้าของเราอาจมีปัญหาได้ เช่น เป็นแผลพุพอง ตุ่มน้ำ เจ็บเล็บ ซึ่งปัญหาเหล่านี้เป็นสิ่งที่ทำให้นักวิ่งอดทนวิ่งต่อไปได้ไม่นาน
วิธีป้องกัน
ดูแลเล็บเท้าให้ดี รักษาความสะอาด ตัดให้สั้น เลือกถุงเท้าและรองเท้าวิ่งที่ใส่สบาย ไม่เกิดการเสียดสี ก่อนแข่งอาจทาวาสลีนหรือติดพลาสเตอร์ป้องกันแผลพุพองสำหรับนักกีฬา
#5 เวลา Cut-off
ทุกการแข่งขันจะมีกำหนดเวลาคัทออฟที่แตกต่างกันไป และในทุกการแข่งขันจะมีนักวิ่งที่ไม่ได้เตรียมตัวและฝึกฝนเรื่องนี้มาก่อน จึงอาจจะพลาดทำเวลาไม่ทันได้
วิธีป้องกัน
เช็คข้อมูลเวลาคัทออฟของรายการที่เราลงแข่งขันล่วงหน้า จากนั้นวางแผนฝึกซ้อมเพื่อให้ตัวเองสามารถทำเวลาวิ่งได้ตามระยะเวลาที่กำหนด นอกจากนี้ก็ต้องดูแลเรื่องอาหารการกิน การฝึกความแข็งแกร่ง การนอนหลับ การพักฟื้น ให้สมดุลควบคู่กันไปด้วย
#6 ความคิดเชิงลบ
ไม่มีอะไรจะทำร้ายเราเท่ากับความคิดของตัวเราเอง ในระหว่างฝึกซ้อมหรือแม้แต่ในสนามแข่ง ระหว่างทางที่ยาวไกล อาจมีช่วงที่เรารู้สึกท้อแท้ หวาดหวั่น ซึ่งอาจจะเกิดจากสถานการณ์รอบๆตัวพาไป หรือด้วยเหตุผลอะไรก็ตาม แต่ความคิดลบเหล่านี้จะบั่นทอนจิตใจจนส่งผลต่อร่างกาย แล้วทำให้เรา DNF ได้
วิธีป้องกัน
คิดบวกเข้าไว้ ลองนึกถึงระยะเวลาหลายเดือนที่เราทุ่มเทฝึกซ้อมจนมาถึงวันนี้ได้ และนึกถึงความสุขที่กำลังจะได้สัมผัสเมื่อเข้าเส้นชัยได้สำเร็จดูสิ
#7 สภาพอากาศ
อันนี้เป็นเรื่องธรรมชาติที่อยู่นอกเหนือการควบคุมของเรา ซึ่งโดยปกติแล้วทางผู้จัดการแข่งขันจะคอยประเมินสภาพอากาศตลอดช่วงเวลาที่มีการแข่ง หากเกิดสภาพอากาศแปรปรวนหรือเลวร้าย ก็จะมีการประกาศยุติการแข่งขันได้
วิธีป้องกัน
สำหรับกรณีที่สภาพอากาศแปรปรวนระหว่างแข่ง แต่ไม่ได้เลวร้ายจนถึงขั้นยุติ สิ่งที่เราสามารถทำได้ก็คือ ศึกษาสภาพอากาศล่วงหน้าก่อนวันแข่ง และเตรียมเสื้อผ้าหรืออุปกรณ์ที่อาจจำเป็นต้องใช้ติดตัวมาด้วย เพื่อให้แน่ใจว่าพร้อมรับมือกับสภาพอากาศที่ไม่พึงประสงค์ได้ในระดับหนึ่ง
บทสรุป
จงจำไว้ว่า DNF ไม่ใช่ความผิดพลาดครั้งใหญ่ในชีวิต และเราสามารถก้ามข้ามสิ่งนี้ไปได้เสมอ ให้พยายามก้าวผ่านมันไปให้เร็วที่สุด
อย่ามัวจมอยู่กับความผิดพลาดนี้ เราสามารถเรียนรู้บทเรียนจากการ DNF ของเราได้ ดังนั้นมาคิดกันว่ามันผิดพลาดตรงไหน และหาแนวทางแก้ไขจะดีกว่า ได้เวลามองหาเป้าหมายถัดไป แล้วเตรียมพร้อมให้เต็มที่ เพื่อลงแข่งอีกครั้งกันเถอะ
แหล่งที่มา: https://bit.ly/3gP9Lix
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming