Anaerobic และ Aerobic แตกต่างกันอย่างไร
ในกระบวนการทำงานเชิงลึกของร่างกายมนุษย์ เพื่อให้กล้ามเนื้อของเราสามารถทำงานได้ ต้องอาศัยสารเคมีที่เรียกว่า ATP (Adenosine triphosphate) ซึ่งเป็นสารสำคัญ เป็นแหล่งพลังงานทำให้กล้ามเนื้อเคลื่อนไหวได้ ปกติแล้วร่างกายจะสร้าง ATP สะสมไว้ที่กล้ามเนื้อในปริมาณหนึ่ง เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับการเป็นพลังงานให้กับร่างกายในการทำกิจกรรมต่าง ในกระบวนการสร้างสารเคมีชนิดนี้แบ่งออกเป็น 2 ประเภทใหญ่ ๆ คือ การสร้างแบบใช้ออกซิเจน และไม่ใช้ออกซิเจน ซึ่งกระบวนการทั้ง 2 แบบนี้มีความแตกต่างกันทั้งด้านที่ได้รับ และผลกระทบที่ตามมา
กระบวนการสร้าง ATP แบบใช้ออกซิเจน
หรือที่หลายคนเรียกว่า Aerobic เป็นวิธีปกติที่ร่างกายจะสังเคราะห์สารอาหาร และพลังงานโดยอาศัยออกซิเจนที่หายใจเข้าไป ซึ่งออกซิเจนจะถูกลำเลียงโดยเม็ดเลือดไปยังส่วนต่าง ๆ ของร่างกายเพื่อให้กล้ามเนื้อได้ใช้ออกซิเจนในการสร้าง ATP การทำงานของกล้ามเนื้อในรูปแบบของ Aerobic นั้นถือเป็นระยะเริ่มต้นของการใช้งานกล้ามเนื้อ ซึ่งการออกกำลังกายประเภทนี้จะเป็นการออกกำลังกายที่สม่ำเสมอ ไม่เน้นหนักไปในช่วงใดช่วงหนึ่ง เช่น การปั่นจักรยานเบาๆ เดินเร็ว วิ่งจ๊อกกิ้ง รำไทเก๊ก
ส่วนกระบวนการทำงานของกล้ามเนื้อแบบแอนแอโรบิก จะไม่ใช้ออกซิเจนในการทำงาน ในระยะนี้เป็นระยะหลังจากที่ร่างกายไม่สามารถสร้างพลังงานได้เพียงพอต่อการใช้งาน เพื่อที่จะให้กล้ามเนื้อทำงานได้อย่างไม่ขาดช่วงจึงมีการสลายไกลโคเจน
ซึ่งเป็นสารเคมีชีวภาพชนิดหนึ่งที่ร่างกายเก็บไว้ภายในกล้ามเนื้อ เพื่อใช้เป็นพลังงานในตอนฉุกเฉิน กระบวนการสลายไกลโคเจนเพื่อสร้างเป็น ATP ไม่จำเป็นต้องอาศัยออกซิเจนในการทำงาน เพียงแต่ว่ากระบวนการนี้จะสร้างกรดแลคติกขึ้นมาสะสมภายในกล้ามเนื้อ และกรดแลคติกเป็นสาเหตุของอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อตลอดจนถึงการเป็นตะคริว ซึ่งการออกกำลังกายชนิดนี้จะเน้นหนักไปในช่วงเวลาสั้น ๆ เช่น Interval Training, Circuit Training, การว่ายน้ำ การยกน้ำหนัก การวิ่งระยะสั้น
โดยปกติแล้วในการออกกำลังกายจะเริ่มจากแบบ Aerobic ก่อนเสมอ
เนื่องจากเป็นสภาวะพื้นฐานในตอนเริ่มออกกำลังกายตอนเริ่มใช้กล้ามเนื้อ และเมื่อถึงจุดที่ร่างกายสังเคราะห์ ATP ได้ไม่เพียงพอต่อการใช้งานจะเป็นการเข้าสู่โหมดของการออกกำลังกายแบบแอนแอโรบิก ซึ่งจะสลายไกลโคเจนที่กักเก็บภายในกล้ามเนื้อออกมาใช้งาน
การออกกำลังกายแต่ละรูปแบบก็จะมีผลที่ได้แตกต่างกันไป ในส่วนของการออกกำลังกายแบบ Aerobic จะเพิ่มความทนทานซึ่งจะช่วยยืดระยะเวลาในการใช้งานของระบบกล้ามเนื้อที่เกี่ยวข้องให้ยาวนานขึ้นต่อการใช้งาน 1 ครั้ง และการออกกำลังกายแบบแอโรบิกยังถือเป็นการะควบคุมน้ำหนักช่วยลดความอ้วนได้เป็นอย่างดี เพราะร่างกายจะเอาพลังงานสะสมไว้ เช่น ไขมันส่วนเกิน ออกมาผลิตเป็น ATP
ถ้าหากสามารถควบคุมการออกกำลังกายนั้นให้อยู่ในระยะของ Aerobic ได้เป็นเวลานานจะช่วยเพิ่มความทนทานให้กล้ามเนื้อได้มาก แต่ต้องไม่ฝืนกล้ามเนื้อจนเกินที่จะรับไหว ซึ่งจะกลายเป็นการออกกำลังกายในระยะของ Anaerobic แทน โดยการออกกำลังกายในระยะดังกล่าว นั้นจะช่วยเพิ่มสมรรถนะทางด้านความแข็งแรงของกล้ามเนื้อให้มากขึ้นกว่าเดิม ตัวอย่างเช่น การยกน้ำหนัก ผู้ออกกำลังกายก็จะสามารถยกน้ำหนักที่มากขึ้นได้ในครั้งถัดไป
การออกกำลังกายแบบAnaerobic และ Aerobic
สามารถสับเปลี่ยนหมุนเวียนกันได้แบบอัตโนมัติไปได้เรื่อย ๆ ซึ่งแต่ละแบบก็จะมีผลที่แตกต่างกันไป ดังนั้นก็ควรโปรแกรมการฝึกซ้อมออกกำลังกายให้เหมาะสมกับวัตถุประสงค์
ยกตัวอย่าง เช่น หากเราต้องการเพิ่มความทนทานของร่างกายเพื่อวิ่งมาราธอน หรือปั่นทางไกล ควรออกกำลังกายแบบ Aerobic ถ้าต้องการเพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ เพื่อวิ่งให้เร็วขึ้น ปั่นให้เร็วขึ้น ต้องออกกำลังกายแบบAnaerobic