Athlete’s Heart ภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวที่เกิดจากการเล่นกีฬา
เมื่อเราออกกำลังกาย เราคาดหวังให้กล้ามเนื้อ เช่น ไหล่ อก หน้าท้อง ชัดเจนกลายเป็น Six Pack ที่ใครเห็นก็น่าหลงใหล แต่อย่าลืมว่ามีอีกหนึ่งกล้ามเนื้อที่ขยายใหญ่ขึ้นได้เช่นกัน นั่นคือ กล้ามเนื้อหัวใจ
หากเราออกกำลังกายคล้ายกับนักกีฬา ตัวอย่างเช่น มีการออกกำลังกายหนักทุกวันมากกว่า 1 ชั่วโมงขึ้นไป ก็อาจทำให้เราเกิดภาวะกล้ามเนื้อหัวใจหนาตัวที่เกิดจากการเล่นกีฬา หรือ Athlete’s Heart ได้
Athlete’s Heart เกิดจากอะไร?
ภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่อเราออกกำลังกาย ทำให้หัวใจมีการสูบฉีดเลือดมากขึ้นกว่าเวลาปกติ อัตราการเต้นของหัวใจจะเพิ่มขึ้นกว่าเดิมมาก ความดันโลหิตจะเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้กล้ามเนื้อหัวใจห้องล่างซ้ายและล่างขวาหนาตัวขึ้น เพื่อรองรับการทำงานหนักนั่นเอง ถือเป็นกลไกการปรับตัวของกล้ามเนื้อหัวใจ ไม่ได้จัดเป็นโรคร้ายแรงแต่อย่างใด
หากเป็น Athlete’s Heart จะตรวจพบอะไรได้บ้าง?
หากไปตรวจร่างกายจะพบว่าอัตราการเต้นของหัวใจในขณะนั่งพักจะต่ำกว่าคนทั่วไป หรืออยู่ประมาณ 40-60 ครั้งต่อนาที (คนทั่วไปมีอัตราการเต้นของหัวใจที่ 60-80 ครั้งต่อนาที) เนื่องจากกล้ามเนื้อหัวใจทำงานได้ดีมาก จึงไม่จำเป็นต้องบีบตัวหลายครั้ง แต่เลือดก็ยังไปเลี้ยงส่วนต่างๆของร่างกายได้ตามปกติ นอกจากนี้ยังสามารถตรวจพบคลื่นไฟฟ้าหัวใจผิดปกติได้
สามารถแยกโรค Athlete’s Heart กับโรคกล้ามเนื้อหัวใจโตชนิดอื่นได้หรือไม่?
ถึงแม้ athlete’s heart จะจัดอยู่ในกลุ่มอาการกล้ามเนื้อหัวใจโตเช่นเดียวกับโรคอื่นๆ แต่จะไม่มีอาการใดๆที่ร่างกายแสดงออกมา เนื่องจากเป็นกลไกการปรับตัวของกล้ามเนื้อหัวใจเท่านั้น หากเป็นโรคหัวใจชนิดอื่นๆ มักมีอาการผิดปกติร่วมด้วย และสามารถแยกความแตกต่างได้จากการตรวจวินิจฉัยพิเศษต่างๆ เช่น การตรวจด้วยคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า (MRI) หรือ การตรวจหัวใจด้วยคลื่นความถี่สูง (ECHO)
หากเป็น Athlete’s Heart สามารถหายเป็นปกติได้หรือไม่?
เมื่อหยุดออกกำลังอย่างหนักเป็นเวลา 3-6 เดือนแล้ว กล้ามเนื้อหัวใจจะสามารถกลับคืนสู่ปกติเองได้
เราควรออกกำลังกายอย่างไร จึงจะดีต่อสุขภาพอย่างแท้จริง
งานวิจัยหนึ่งพบว่า หากนักกีฬาสกีฝึกสกีให้ไกลขึ้นและเร็วขึ้นกว่าเดิมไปมาก อาจก่อให้เกิดหัวใจเต้นผิดจังหวะขึ้นมาได้ เพราะฉะนั้นการออกกำลังกายหนักจนเกินไป จึงเป็นการส่งผลเสียต่อหัวใจยิ่งกว่าเดิม รู้อย่างนี้แล้วอย่าเพิ่งโยนรองเท้าผ้าใบทิ้งไปเสียก่อนนะ เพราะอย่างไรก็ตามการออกกำลังกายนั้นส่งผลดีมากกว่าผู้ที่ไม่ออกอยู่แล้ว โดยช่วยลดความดันโลหิตสูง ลดโอกาสการเกิดโรคเบาหวาน เพิ่มความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ และทำให้จิตใจปลอดโปร่ง อารมณ์ดีอีกด้วย
หากเราต้องการมีสุขภาพดี ไม่ได้เป็นนักกีฬาที่ต้องแข่งขันกับใคร แนะนำให้การออกกำลังกายอยู่ในระดับปานกลาง ที่ยังสามารถพูดคุยเป็นคำได้ในขณะกำลังออกกำลังกาย เลือกวิธีการออกกำลังกาย เช่น การวิ่ง เดิน หรือว่ายน้ำ เต้นแอโรบิคอย่างน้อยประมาณ 150 นาทีต่อสัปดาห์ แต่ไม่ควรออกกำลังกายหนักเกิน 300 นาทีต่อสัปดาห์
แต่ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัยส่วนตัวของแต่ละคนด้วย บางคนอาจเกิดโรค บางคนอาจไม่เกิดก็ได้ ส่วนการเล่นกีฬาอย่างหนัก เช่น ปั่นจักรยาน เล่นฟุตบอล รวมไปถึงการวิ่งกลางแจ้งที่ต้องอาศัยความทนทานมากๆ (endurance) จะก่อให้เกิดอันตรายต่อหัวใจได้มากกว่าการออกกำลังกายในฟิตเนส
หากในระหว่างออกกำลังกายมีอาการใจสั่น หน้ามืด เวียนศรีษะ หายใจไม่สะดวก แน่นหน้าอก จุกแน่นลิ้นปี่ ให้หยุดการออกกำลังกายทันที เพื่อลดโอกาสการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นได้
อ้างอิง
- Robert Fagard. Athlete’s heart. Heart. 2003 Dec; 89(12): 1455–1461.
- David L Prior, Andre La Gerche. The athlete’s heart. http://dx.doi.org/10.1136/heartjnl-2011-301329
- ผู้ช่วยศาสตราจารย์ แพทย์หญิง นฤมล เชาว์สุวรรณ. โรคกล้ามเนื้อหัวใจที่ไม่ได้เกิดจาก กล้ามเนื้อหัวใจขาดเลือด Non-ischemic cardiomyopathy . https://www.rcrt.or.th/RCRT2018/ handouts/by_session_type_and_room/204/204_20_10.30_นฤมล.pdf . 25/06/2019
?
แจกจริง แจกหนัก GARMIN, SUUNTO, FITBIT 122 วัน 122 เรือน
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming