รู้จัก AUDAX (ออแด๊กซ์) แรลลี่จักรยานระดับโลก
ผมเชื่อว่านักปั่นต้องคุ้นเคยและคุ้นหูกับคำว่า AUDAX (ออแด๊กซ์) มากพอสมควร เพราะอาจเคยมีคนมาชักชวน หรืออาจเคยได้ลิ้มลองรสชาติของ AUDAX กันมาบ้างแล้วด้วยซ้ำ แต่วันนี้ผมจะขอพาไปรู้จักการปั่นจักรยานแบบที่เราเรียกกันอย่างติดปากว่า AUDAX กันให้ละเอียดมากขึ้นอีกสักนิด
กล่าวกันว่างานปั่น AUDAX เกิดขึ้นครั้งแรกราวปลายคริสต์ศตวรรษที่ 19 ที่ประเทศอิตาลี มีที่มาจากนักปั่นจักรยานกลุ่มหนึ่ง ที่ต้องการจะปั่นจักรยานเป็นกลุ่มให้ได้ระยะทางไกลที่สุดใน 1 วัน มีหัวใจสำคัญคือต้องปั่นจักรยานอย่างต่อเนื่องและไม่แวะพักระหว่างทาง ซึ่งการปั่นจักรยานแบบ AUDAX ครั้งแรกในประวัติศาสตร์ถูกจัดขึ้นเมื่อวันที่ 12 มิถุนายน ค.ศ. 1897 โดยมี 12 นักปั่นจักรยานชาวอิตาลีลงแข่งขันในระยะทาง 230 กิโลเมตร จากกรุงโรมมุ่งสู่เมืองเนเปิลส์ ประเทศอิตาลี
ปัจจุบัน การปั่นจักรยานแบบ AUDAX มีอยู่ 2 รูปแบบด้วยกัน ได้แก่
- ยูโรแดกซ์ (EURODAX) ซึ่งเป็นรูปแบบดั้งเดิม คือการปั่นจักรยานโดยไม่หยุดพักระหว่างทาง นิยมมากในประเทศโซนยุโรป เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ เบลเยี่ยม และเยอรมนี เป็นต้น
- รองดองเนอร์ (randonneur) ซึ่งเป็นรูปแบบที่เกิดขึ้นในภายหลัง นักปั่นสามารถเลือกได้ว่าจะปั่นจักรยานต่อเนื่องโดยไม่หยุดพัก หรือจะเลือกหยุดพักระหว่างทางอย่างอิสระก็ได้ แม้ว่าในประเทศไทยจะเรียกว่า รองดองเนอร์ (randonneur) กันอย่างติดปาก แต่ก็ยังมีชื่อเรียกอื่น ๆ ด้วยเช่นกัน นั่นคือ อาลูร์ลีบร์ (allure libre) และ เบรอแว (brevet) การแข่งขันในรูปแบบนี้ เป็นที่นิยมมากในอเมริกา แคนาดา ออสเตรเลีย บราซิล สหราชอาณาจักร และจีน อย่างไรก็ตาม กล่าวกันว่าบางประเทศนิยมใช้คำว่า รองดองเนอร์ (randonneur) เป็นความหมายเดียวกับคำว่า AUDAX ซึ่งในประเทศไทยก็เช่นกัน
ส่วนที่มาของการปั่นจักรยาน AUDAX ในไทย ผมเคยอ่านบทสัมภาษณ์ของ Mr. Ronald Arthur Robert Usher หรือ นายเกตุ วรกำธร ซึ่งเป็นชื่อภาษาไทยที่ได้รับพระราชทานในฐานะที่สร้างประโยชน์หลายประการให้กับแผ่นดินไทย ท่านให้สัมภาษณ์ไว้เกี่ยวกับเรื่องนี้ว่าท่านชื่นชอบการปั่นจักรยานอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นการปั่นจักรยานเพื่อการเดินทางหรือจะเป็นการปั่นจักรยานเพื่อออกกำลังกายก็ตาม เมื่อปี ค.ศ.2011 ท่านได้มีโอกาสไปปั่นจักรยาน AUDAX รอบภูเขาไฟฟูจิ จึงรู้สึกประทับใจ และต้องการให้เกิดการปั่นจักรยานแบบนี้ในประเทศไทยบ้าง ประกอบกับท่านได้พบกับคุณวิชญ์ พิมพ์กาญจนพงศ์ ซึ่งก็มีอุดมการณ์เดียวกัน คือ ต้องการให้เกิดการปั่นจักรยาน AUDAX ในประเทศไทย หลังจากนั้นทั้ง 2 ท่านจึงร่วมมือร่วมใจจัดตั้ง Randonneurs Thailand ขึ้นมา โดยทริปแรกจัดขึ้นในปี ค.ศ.2011 ปีเดียวกันนั้นเลย โดยเป็นการปั่นจักรยานไปกลับ กรุงเทพฯ – แก่งกระจาน
การจะเข้าร่วมการแข่งขัน AUDAX จำเป็นต้องเป็นขาแรงไหม? ควรเตรียมตัวอย่างไร?
ข่าวดีครับผม การลงแข่งขันงานปั่น AUDAX ไม่จำเป็นต้องเป็นขาแรง ขอแค่มีการเตรียมพร้อม และมีความตั้งใจอย่างเต็มที่ที่จะจบการแข่งขันให้ได้ เพราะหากขาของคุณแรงเกินไป คุณก็ต้องไปแกร่วรอจุดควบคุมเปิดอยู่ดี
ด้วยความที่การแข่งขัน AUDAX มีลักษณะเป็น แรลลี่จักรยานทางไกล ดังนั้นความสำคัญจึงอยู่ที่การควบคุมตัวเองและจักรยานคู่กายให้จบการแข่งขันโดยสวัสดิภาพให้ได้ ไม่หลงทาง และไม่เกิดเหตุอะไรที่ทำให้ต้องออกจากการแข่งขันไปเสียก่อน เรามาดูการเตรียมตัวสำหรับ AUDAX ไปพร้อม ๆ กันครับ
- สภาพร่างกายพร้อม
- สภาพจักรยานพร้อม
- เสบียงพร้อม เช่น น้ำดื่ม กล้วยตาก หรืออาหารให้พลังงาน
- สัมภาระพร้อม เช่น ยางใน ที่ปะยาง สูบลม อุปกรณ์งัดยาง สเปรย์คลายกล้ามเนื้อ
- มีการศึกษาเส้นทางมาก่อนบ้างแล้ว ถ้าเริ่มคิดว่าหลง ใช้ปากถามทางเลย ดีที่สุด
- เตรียมข้อมูลส่วนบุคคลเกี่ยวกับทางการแพทย์ไว้ให้พร้อม อาจจะตั้งในหน้าแรกของสมาร์ทโฟนก็ได้ครับ ระบุ ชื่อ นามสกุล เบอร์โทรติดต่อยามฉุกเฉิน กรุ๊ปเลือด หมายเลขสมาชิก AUDAX และอื่น ๆ ที่น่าจะเป็นประโยชน์เมื่อเกิดเหตุไม่คาดฝัน
สำหรับนักปั่นที่สนใจจะลงแข่งขัน AUDAX เป็นครั้งแรก ผมขอแนะนำระยะและเส้นทางที่น่าจะเหมาะที่สุดสำหรับมือใหม่ AUDAX นั่นก็คือ ระยะทาง 200 กิโลเมตร ที่ จ.พระนครศรีอยุธยา หรือที่นักปั่นจะรู้จักกันในชื่อ 200BRM Ayutthaya เนื่องจากเกือบตลอดเส้นทางเป็นถนนลาดยาง เปรียบเทียบกับ 200 กิโลเมตรของที่อื่น ๆ แล้ว ที่นี่ค่อนข้างปั่นสบาย หากจะพูดถึงเรื่องสถานที่แวะพักและเสบียงอาหาร เส้นทางนี้ก็ถือว่าสะดวกมาก ๆ เพราะระหว่างทางมีร้านค้า และศาลาให้แวะพักเกือบตลอดทั้งเส้นทาง ซึ่งโดยมากจะผ่านชุมชนและตลาด เรียกว่าทั้งได้พัก และทั้งอิ่มท้องอย่างแน่นอน
อย่างไรก็ตาม อันนี้ผมขอเตือนไว้สำหรับนักปั่นจักรยานท่านใดก็ตามที่คิดว่า AUDAX ระยะ 200 กิโลเมตรนั้นหมูไปซะทุกที่ อย่าลืมว่าใน 200 กิโลเมตรนั้นอาจไม่ใช่ทางราบเสมอไปนะครับ ก่อนลงสมัครกรุณาศึกษาเส้นทางให้ดีเสียก่อน เพราะมีโอกาสที่ 200 กิโลเมตรนั้นจะเป็นเนินเขา ผลที่ได้จะเหมือนกับเราไปลงระยะ 300 กิโลเมตรเลยทีเดียว ดังนั้นอย่าเพิ่งตัดสินใจเร็วเกินไปเป็นอันขาด ขอให้โชคดีและสนุกกับการปั่นจักรยาน AUDAX ทุกท่านนะครับ