เกิดมาวิ่ง ตอนที่1 สวัสดีค่ะ.. นี่คือบทความ ทีละก้าว: เกิดมาวิ่ง ตอน1
มาดูกันว่า ทำไม..จึงมีคำกล่าวว่า มนุษย์อย่างพวกเรานั้นเกิดมาวิ่ง (Born to Run!)
มนุษย์เผ่าพันธุ์ปัจจุบัน มีชีวิตรอดมาได้ เพราะร่างกาย “ถูกออกแบบมาเพื่อการวิ่ง”
ในอดีต ก่อนที่ โฮโมซาเปียน (ซึ่งก็คือมนุษย์พันธุ์ปัจจุบันแบบพวกเรา) จะแพร่พันธุ์ขยายอาณาเขตไปทั่วโลก
ยังมีมนุษย์พันธุ์อื่นอีกที่ครองความเป็นใหญ่มาก่อนในยุคดึกดำบรรพ์ เช่น มนุษย์โฮโมอีเรคตัส มนุษย์โฮโมฮีเดลเบอร์ก มนุษย์นีแอนเดอร์ทัล
นีแอนเดอร์ทัล คือมนุษย์ยุคล่าสุดที่อยู่ร่วมสมัยกับโฮโมซาเปียน
นีแอนเดอร์ทัล มีสมองที่ใหญ่กว่าเรา (ดูจากพื้นที่ว่างในกระโหลก) รวมทั้ง ยังมีกล้ามเนื้อและร่างกายที่ใหญ่โตกว่าเรา (ดูจากโครงกระดูก)
นักวิทยาศาสตร์หลายคน ก็สงสัยเหมือนๆ กับพวกเรานี่แหละว่า..
ทำไมนีแอนเดอร์ทัล ซึ่งทั้งฉลาดกว่า และแข็งแรงกว่า จึงได้ถูกโฮโมซาเปียนเอาชนะจนสูญพันธุ์ไปหมดได้?
หลายคนพยายามหาคำตอบ
บ้างคิดว่าเป็นเพราะเชื้อโรค ซึ่งอาจทำให้นีแอนเดอร์ทัลป่วย แต่กลับไม่สามารถทำอะไรโฮโมซาเปียนได้
แต่อย่างไรก็ตาม ทฤษฎีนี้ ยังไม่มีหลักฐานใดมารับรอง
บ้างก็ว่า เป็นเรื่องของอาวุธ ซึ่งโฮโมซาเปียนได้คิดค้นขึ้นมา
แต่.. ในสมัยที่โฮโมซาเปียน ทำให้นีแอนเดอร์ทัลสูญพันธ์ุไปนั้น ก็ยังไม่พบว่ามีหลักฐานอาวุธที่ก้าวหน้าใดๆ ที่ถูกนำมาใช้ในสงคราม
ทฤษฎีนี้จึงยังคงไม่น่าเชื่อถืออยู่ดี
แต่ เมื่อไม่นานมานี้เอง นักวิทยาศาสตร์กลุ่มหนึ่งซึ่งสนใจทางด้านวิวัฒนาการสิ่งมีชีวิต
ได้มีการศึกษาวิวัฒนาการโครงสร้างและกลไกการเคลื่อนไหวของมนุษย์
และพวกเขาก็พบว่า ที่โฮโมซาเปียนอย่างพวกเรา เอาชนะ นีแอนเดอ์ทัลได้ ก็เพราะ
“พวกเราวิ่ง!”
ว่าแต่ พวกเขาใช้อะไรเป็นหลักฐาน มาสนับสนุนทฤษฎีนี้?
จุดชี้ขาดของการอยู่รอดระหว่างมนุษย์สองเผ่า ก็คือ การหาอาหาร
ใครหาได้เก่งกว่า ก็มีโอกาสอยู่รอดได้มากกว่า นั่นเอง
ในยุคที่ยังไม่มีใครทำการเกษตรการประมง ไม่มีอาวุธแบบ ใช้พุ่งโยน หรือยิงระยะไกล ไม่มีการสร้างกับดัก
มนุษย์ทั้งสองเผ่า อยู่รอดได้ด้วยการล่าสัตว์ ซึ่งเป็นการล่าสัตว์ในป่าโปร่ง หรือทุ่งหญ้าขนาดใหญ่
การล่าแบบไม่ใช้อาวุธหรือกับดักนี้ เริ่มจากการเลือกเหยื่อออกมาจากฝูงหนึ่งตัว เช่น กวาง หรือ ม้าลาย
จากนั้นก็ล่อ แล้ววิ่งไล่มันไปเรื่อย จนในที่สุด เหยื่อก็จะเหนื่อย และล้มลงเอง
ความสามารถในการวิ่ง จึงสำคัญมาก
และสิ่งที่สำคัญกว่าการวิ่งได้เร็ว ก็คือ การวิ่งได้ทน วิ่งได้เรื่อยๆ
อาจจะฟังดูเหมือนไม่น่าเชื่อใช่ไหมคะ ว่าคนจะสามารถวิ่งชนะกวาง หรือม้าลายได้
บรรพบุรุษของพวกเราทำได้อย่างไร?
มันเป็นไปได้ยังไง
คำตอบคือ “เราทำได้ ถ้าเป็นการวิ่งระยะไกล!”
บรรพบุรุษของเรา มีชีวิตรอดมาจนขยายเผ่าพันธุ์มากมายได้
ไม่ใช่เพราะพวกเขาวิ่งได้เร็ว แต่เพราะ พวกเขาสามารถวิ่งระยะไกลได้ดี
ปัจจัยหลักที่ทำให้มนุษย์สามารถวิ่งได้ทนกว่าสัตว์ชนิดอื่น ก็คือ ความแตกต่างทางชีววิทยานั่นเอง
เมื่อเปรียบเทียบมนุษย์กับสัตว์ ก็จะพบว่า
มนุษย์ มีร่างกายที่สามารถระบายความร้อนได้ดีกว่า (เพราะพวกเรามีขนน้อยกว่า)
มนุษย์ มีโครงสร้างปอดที่หายใจได้มีประสิทธิภาพดีกว่า (ใช้ออกซิเจนได้มากกว่า สร้างความร้อนน้อยกว่า)
มนุษย์ มีโครงสร้างกล้ามเนื้อ เอ็น และข้อต่อ ที่เหมาะสมกับการวิ่งระยะไกล
สัตว์ที่เราเห็นกันว่าวิ่งระยะไกลๆ ได้ดี อย่างเช่น ม้า
หากจะต้องแข่งวิ่งทางไกลกับมนุษย์ ม้าจะสามารถวิ่งนำมนุษย์ได้ในช่วงแรก
แต่หากถึงระยะทางที่ประมาณ 50 กิโลเมตร จะเกิดความร้อนสะสมในตัวม้ามากจนเกินไป
ส่งผลให้ ม้าต้องลดความเร็วลง แล้วมนุษย์ก็สามารถวิ่งนำได้
มีการแข่งขันม้าระยะไกลในอเมริกา ซึ่งมีอยู่ครั้งหนึ่ง จ็อกกี้หาม้ามาลงแข่งไม่ได้
จึงได้ตัดสินใจลงแข่งวิ่งเองโดยไม่ใช้ม้า และผลก็คือ เขาชนะม้า และเข้าเส้นชัยเป็นอันดับหนึ่ง
ส่วนสัตว์ที่วิ่งเร็วกว่าม้า เช่น เสือดาว กวาง กาเซล จะวิ่งแบบสปรินท์ได้เร็วมาก แต่ก็เพียงได้เพียงระยะสั้นๆ สัตว์เหล่านี้วิ่งด้วยความเร็วเต็มที่ ได้ไม่เกิน 5-10 นาที ก็จะมีความร้อนมากเกิน (Overheated) จนต้องหยุดพัก หรือชะลอความเร็วลง
มนุษย์ในยุคก่อนมีการล่าสัตว์เป็นกลุ่ม โดยการวิ่งต้อนไปเรื่อยๆ
เพราะพวกเขาพบว่า มนุษย์นั้น “อึด” กว่าสัตว์
เมื่อวิ่งไปได้สักพัก สัตว์ก็จะวิ่งช้าลงเรื่อยๆ และล้มลงไปเอง
สัตว์ตัวที่อ่อนแอ เช่น ลูกกวาง หรือม้าลายแก่ อาจจะถูกวิ่งต้อนเพียงไม่กี่ชั่วโมง ก็ล้มลง
แต่บางตัว มนุษย์อาจจะต้องใช้เวลาวิ่งตามอยู่หลายวัน
แต่ในที่สุด หากตามและต้อนไปเรื่อยๆ มนุษย์ก็จะชนะ!
โฮโมซาเปียน เหนือกว่า นีแอนเดอร์ทัล ก็ตรงที่ “วิ่งระยะไกลได้ดีกว่า”
แม้เราจะมีสมองที่เล็กกว่า กล้ามเนื้อที่น้อยกว่า และโครงสร้างร่างกายที่เล็กกว่า
แต่ด้วยร่างกายที่ไม่ใหญ่โตเกินไปนี้เอง ส่งผลให้เราใช้พลังงานน้อยกว่า สร้างความร้อนน้อยกว่า
จึงสามารถวิ่งระยะไกลได้อย่างมีประสิทธิภาพมากกว่า
เมื่อวิ่งได้ “ไกลกว่า” “อึดกว่า” ก็ล่าสัตว์ได้มากกว่า ครอบครองพื้นที่ได้มากกว่า
หรือเมื่อครั้นขาดแคลนอาหาร ก็อพยพไปได้ไกลกว่า
ลองมาดูตัวเราเองในปัจจุบัน เรานั่งอยู่เฉยๆ วันละ 8 ชั่วโมง หรือมากกว่า เดินไปซื้อของขนมเซเว่นแป๊ปเดียวก็เหนื่อย
หลายคนอาจจะคิดว่า การวิ่งระยะมาราธอนเป็นเรื่องหนักที่ต้องทุ่มเทอย่างมหาศาล
แต่จริงๆ แล้ว หากเรามองดูที่ธรรมชาติของตัวเรา ซึ่งมีโครงสร้างและกลไกขับเคลื่อนอันมีประสิทธิภาพ ซึ่งเหมาะกับการวิ่งระยะไกล
เราจะพบว่า การวิ่งระยะ 100 กิโลเมตร หรือมากกว่านั้น ไม่ได้เกินศักยภาพของมนุษย์เราเลย
เพราะร่างกายของมนุษย์เรา ได้รับการปรับปรุงจากกระบวนการวิวัฒนาการทางชีววิทยามาให้เราวิ่ง
เราเกิดมาวิ่ง!
และไม่ใช่วิ่งเร็ว ระยะสั้นๆ แต่เป็นวิ่งระยะไกล ไกลชนิดที่ว่า วิ่งกันข้ามวันข้ามคืนก็ทำได้
สัปดาห์หน้า ทีละก้าว: เกิดมาวิ่ง ตอน2 จะพาเพื่อนๆ ไปเที่ยวรอบโลก พร้อมกับไปดูวัฒนธรรมการวิ่งของมนุษย์ในประเทศต่างๆ ค่ะ
[AD]
บัตรเครดิต KTC ตัวจริงเรื่องกีฬา
แลกรับส่วนลดเพิ่มสูงสุด 15% ที่ Sports World ทุกสาขา