วิธีตากรองเท้าวิ่งให้แห้งไว ไร้กลิ่นอับ พร้อมต้อนรับฤดูฝน
นักวิ่งส่วนใหญ่มักประสบกับปัญหารองเท้าวิ่งเปียกและแห้งช้า โดยเฉพาะในช่วงหน้าฝน ซึ่งรองเท้าวิ่งที่อับชื้นนี้ จะกลายเป็นแหล่งสะสมเชื้อโรค และทำให้เกิดกลิ่นที่ไม่พึงประสงค์กับเท้าของเราได้ ในบทความนี้เรามี วิธีตากรองเท้าวิ่งให้แห้งไว ไร้กลิ่นอับ พร้อมเคล็ดลับการดูแลรองเท้าวิ่งในช่วงหน้าฝนจากเฟซบุ๊กของคุณ Songkran Fix Chom มาฝากกัน ซึ่งเป็นข้อมูลที่แชร์จากประสบการณ์ตรงและมีประโยชน์มากๆ โดยขออนุญาตเรียบเรียงให้เพื่อนๆ ได้นำไปทำตาม ดังนี้
อุปกรณ์ที่ต้องเตรียม
- สารซักล้าง หรือจะใช้เป็นแชมพูสระผมแทนก็ได้
- แปรงขัดที่มีขนอ่อนนุ่ม หรือผ้า สำหรับเช็ดถู
- กระดาษทิชชู
ขั้นตอนการเตรียมรองเท้าวิ่งก่อนนำไปซัก
- ต้องแยกแผ่น insole หรือแผ่นรองด้านในรองเท้าออกทุกครั้ง
วิธีซักรองเท้าวิ่ง
การซักล้างหรือตากรองเท้าให้สะอาดควรคำนึงถึงจุดอับที่มักหลงลืม จุดสำคัญ คือ พื้นรองด้านในหรือที่เรียกว่า insole เพราะแผ่น insole นี้มักผลิตจากโฟมเซลล์เปิดหรือเรียกง่ายๆ ว่าฟองน้ำ สามารถดูดซับน้ำและสิ่งสกปรกเอาไว้ได้ดี หากซักตากรองเท้าโดยไม่แยกแผ่นนี้ออกมา มักเป็นต้นเหตุทำให้เกิดการหมักหมมความชื้นและสิ่งสกปรกจนเกิดกลิ่นอับตามมา ยิ่งไปกว่านั้นช่องว่างระหว่างแผ่น insole กับพื้นรองเท้ายังสามารถเป็นแหล่งอุ้มน้ำชั้นดีในระหว่างที่เราพยายามตากรองเท้าให้แห้ง อายุการใช้งานของกาวที่ติดอยู่ระหว่าง upper กับ midsole อาจเสื่อมสภาพได้เร็วหากปล่อยให้ชุ่มน้ำเป็นเวลานาน
เมื่อแยกแผ่น insole ออกแล้วและซักรองเท้า หากมีคราบสกปรกมากจำเป็นต้องใช้สารซักล้างแทนน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียว ส่วนตัวเลือกใช้แชมพูสระผม จะถูกจะแพงแล้วแต่ความต้องการซึ่งขอตั้งข้อสังเกตว่าแชมพูใสราคาถูกมักล้างน้ำออกง่ายและสะอาดกว่า อีกทั้งปราศจากแวกซ์และพาราเบนที่มาเคลือบสะสมบนเส้นใยผ้าของรองเท้าเป็นอาหารให้เชื้อราได้ต่อในระยะยาว กรณีใช้ผงซักฟอกต้องล้างหลายๆ น้ำและขยำบริเวณฟองน้ำในจุดต่างๆ ของรองเท้าให้หมดฟองและสะอาดที่สุด เพราะฟอสเฟตที่ตกค้างก็เป็นอาหารของเชื้อราได้เช่นกัน
คำแนะนำ
- ต้องล้างสารซักล้างออกให้หมด หรือล้างด้วยน้ำเปล่าเพียงอย่างเดียวหลายๆ ครั้งเพื่อชำระเพียงคราบเหงื่อไคล
วิธีตากรองเท้าวิ่ง
การตากรองเท้าที่เปียกชุ่มเป็นขั้นตอนสำคัญอีกขั้นตอนหนึ่ง สังเกตเห็นว่าหลายคนมักจะวางหงาย (พื้นรองเท้าอยู่ด้านล่างปกติ) และกระดกปลายรองเท้าให้พาดอยู่กับผนังหรือราวตากเพื่อให้น้ำไหลออกจากรองเท้า แต่…..บริเวณส้นรองเท้าวิ่งมักประกอบด้วยชิ้นส่วนที่เรียกว่า heel counter มีลักษณะเป็นถ้วยพลาสติกซึ่งกักเก็บน้ำได้ดีมากและทำให้แห้งช้า ฉะนั้นการวางคว่ำ (หงายพื้นรองเท้าขึ้น) โดยชี้ปลายรองเท้าขึ้นและให้ส้นอยู่ต่ำกว่าแบบเดิมเพื่อให้น้ำหยดออกง่ายจะให้ผลที่ดีกว่าในขั้นตอนนี้ โดยระยะเวลาที่ใช้ตากในขั้นตอนนี้เพียงข้ามคืนก็เพียงพอ จุดประสงค์เพื่อให้น้ำหยดออกให้หมาดที่สุดไม่ใช่การตากจนแห้งสนิท จะใช้กระดาษทิชชูแปะเพื่อช่วยดูดน้ำและลดคราบเหลืองก็ไม่ผิดและได้ผลดี
เมื่อทำขั้นตอนด้านบนจนเสร็จตัวรองเท้าจะมีความแห้งในระดับหนึ่งแล้ว โดยเฉพาะบริเวณปลายเท้าเพราะน้ำได้ไหลลงมาที่ส้นเท้าจนหมด ประกอบกับหน้าผ้าบริเวณปลายเท้ามีความโปร่งและไม่อุ้มน้ำ ต่อมาให้ผึ่งรองเท้าเพื่อให้ความชื้นที่เหลืออยู่ในชั้นผ้าและฟองน้ำระเหยออกจนหมด ขั้นตอนนี้จะตากด้วยกระบวนท่าไหนก็ได้ตามสะดวก แต่ต้องเน้นเรื่องอากาศถ่ายเทที่ดีเพื่อให้ไอน้ำระเหยได้อย่างต่อเนื่อง ผึ่งต่อสักครึ่งวันถึง 1 วันก็แห้งสนิทในวันที่อากาศสดใสเป็นปกติ
สามารถตรวจเช็คความแห้งสนิทโดยการใช้กระดาษทิชชูกดลงบริเวณที่เป็นฟองน้ำหนาแรงๆ หากทิชชูยังเปียกหรือชื้นให้ผึ่งต่อจนแห้ง
คำแนะนำ
- ต้องทำให้รองเท้าที่เปียกชุ่ม แห้งหมาดเร็วที่สุด เหมือนการบิดผ้าขี้ริ้วให้หมาดที่สุดนั่นเอง
- รองเท้าที่แห้งหมาดแล้ว ควรตากในบริเวณที่อากาศถ่ายเทดีที่สุด
- ห้ามตากแดด เพราะแดดจะทำให้วัสดุเสื่อมสภาพเร็วขึ้น
- ห้ามยัดกระดาษหนังสือพิมพ์ทิ้งไว้จนแห้งคารองเท้า เพราะยิ่งทำให้อับ
วิ่งไหนกัน ปั่นไหนดี ต้องขอขอบคุณข้อมูลดีๆ ที่มีประโยชน์จากคุณ Songkran Fix Chom ไว้ ณ โอกาสนี้
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming