วิธีเอาชนะ โรคลำไส้แปรปรวน (IBS) สำหรับนักวิ่ง
ปัญหาใหญ่อย่างหนึ่งที่นักวิ่งหลายคนมักจะเจอระหว่างวิ่งก็คือ วิ่งแล้วปวดท้อง(อึ)!! โดยเฉพาะในวันสำคัญอย่างวันแข่งที่เตรียมตัวกันมาเต็มที่ แต่เจอปัญหานี้เข้าไปก็อาจทำให้เป้าหมายการวิ่งที่พยายามมาทั้งหมดพังลงได้ อาการลำไส้แปรปรวนปั่นป่วนที่เกิดขึ้นระหว่างวิ่งนี้ มีชื่อเรียกว่า Gastrointestinal Distress หรือ GI Distress เป็นปัญหาที่พบได้บ่อยในนักวิ่งทุกระดับทั้งมือใหม่และมืออาชีพ โดยมีผลการศึกษาที่ชี้ให้เห็นว่า 30-50 เปอร์เซ็นต์ของนักกีฬาที่มีความอึดทน ก็ประสบปัญหาเกี่ยวกับระบบทางเดินอาหารนี้เช่นเดียวกัน
แต่อาการท้องไส้ปั่นป่วนขณะวิ่ง อาจเป็นอาการของโรคลำไส้แปรปรวน หรือ IBS ก็ได้ ซึ่งการวิ่งอาจยิ่งทำให้ผู้ที่เป็นโรคไอบีเอสมีอาการแย่ลงได้ ปัญหาก็คือ.. แล้วเราจะแยกความแตกต่างของสองสิ่งนี้ได้อย่างไร จะได้หาวิธีจัดการกับมันได้อย่างถูกต้อง
IBS คืออะไร?
จากข้อมูลของมูลนิธิสุขภาพทางเดินอาหารของแคนาดา ระบุว่า IBS คือโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบลำเลียงอาหารของลำไส้และการตอบสนองต่อความไวของสมองที่ตีความสัญญาณจากเส้นประสาทในลำไส้ จึงอาจทำให้เกิดอาการปวดท้อง ท้องอืด มีแก๊สในกระเพาะอาหาร และมีการเคลื่อนไหวของลำไส้ผิดปกติ
โรคไอบีเอส มีสองประเภท ได้แก่
- IBS-C: อาการลำไส้แปรปรวนที่มีอาการท้องผูก
- IBS-D : อาการลำไส้แปรปรวนร่วมกับอาการท้องร่วง
การวิ่งทำให้ผู้ที่ป่วยเป็นโรค IBS แย่ลงอย่างไร
การวิ่งสามารถทำให้ลำไส้ผ่อนคลายและกระตุ้นให้มีการเคลื่อนไหวของลำไส้มากขึ้น ซึ่งสำหรับคนปกติทั่วไปนี่ถือเป็นเรื่องที่ดี แต่สำหรับในกรณีที่มีอาการลำไส้ทำงานไม่ปกติอยู่แล้ว การกระตุ้นแบบนี้จะทำให้การทำงานส่วนอื่นๆ ของร่างกายแย่ลงได้ ตัวอย่างเช่น
- การไหลเวียนของเลือดไปยังลำไส้ลดลงระหว่างออกกำลังกาย
- ความเครียดจากการวิ่ง จะลดการทำงานของทางเดินอาหาร
- กิจกรรมที่มีความเข้มข้นสูง อาจทำให้เกิดการอักเสบในกระเพาะอาหารและลำไส้ได้
แต่น่าเสียดายที่การวินิจฉัยโรคลำไส้แปรปรวนยังไม่มีวิธีการทดสอบที่ชัดเจน แพทย์จะใช้การซักประวัติและตรวจร่างกาย เพื่อแยกแยะกับโรคอื่นๆ ก่อนที่จะสรุปว่าเป็นโรค IBS
IBS สามารถรักษาได้หรือไม่
ขณะนี้ยังไม่มีการรักษาที่ตายตัว เนื่องจากเป็นโรคที่มีอาการหลากหลายและมีความรุนแรงไม่เท่ากัน แพทย์จะประเมินตามอาการ และให้รักษาด้วยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรม และหลีกเลี่ยงอาหารที่มีองค์ประกอบเป็นคาร์โบไฮเดรต (FODMAP) ซึ่งจะทำให้แบคทีเรียในลำไส้เจริญเติบโต และเป็นสาเหตุที่ทำให้เกิดอาการลำไส้แปรปรวน
5 เคล็ดลับที่จะช่วยให้นักวิ่งเอาชนะอาการลำไส้แปรปรวนขณะวิ่งได้
- เลือกเครื่องดื่มหรือเจลพลังงานอย่างระมัดระวัง และทดลองกินจริงก่อนวันแข่งขันเสมอ
- ดื่มน้ำให้เพียงพอ เพื่อปรับปรุงการดูดซึมอาหารของลำไส้
- งดรับประทานอาหารที่มีเส้นใยสูงและไขมันสูงก่อนการวิ่งหรือการแข่งขัน
- หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารเป็นเวลาสองชั่วโมงก่อนวิ่งหรือก่อนแข่งขัน
- ผ่อนคลายความเครียด ทำจิตใจและอารมณ์ให้แจ่มใส เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้ปวดท้อง
บทสรุป
GI Distress หรือปัญหาท้องไส้ปั่นป่วนขณะวิ่ง สามารถทำลายเป้าหมายการวิ่งและเป็นตัวขัดขวางการทำ PB ในวันแข่งขันของเราได้ และถ้าหากนักวิ่งป่วยเป็นโรค IBS แล้วออกไปวิ่ง ก็จะยิ่งทำให้ปัญหาเหล่านี้อาจเลวร้ายมากขึ้น และถึงแม้ว่าอาการนี้อาจไม่มีวิธีรักษา แต่ก็สามารถจัดการได้ เพียงทำตามเคล็ดลับที่กล่าวไปด้านบน เพื่อให้คุณสนุกกับการวิ่งโดยไม่ต้องรู้สึกเจ็บปวด หรือไม่สบายตัวจนกว่าจะจบการแข่งขัน
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming