ลากูน่าภูเก็ตไตรกีฬา : ทำไมคุณควรไปแข่งที่นี่
คุณรู้หรือไม่ว่ามีการแข่งไตรกีฬางานหนึ่งในประเทศไทยที่จัดแข่งต่อเนื่องกันมาเป็นปีที่ 25 และเป็นงานไตรกีฬาที่เก่าแก่ที่สุดในเอเชีย รวมถึงได้รับการจัดอันดับจาก Triathlete Magazine (USA) และ 220 Magazine (UK) ให้เป็นงานแข่งที่ควรไปแข่งสักครั้งในชีวิตก่อนตาย (Places to race before you die) เป็นเรื่องที่น่าดีใจและมหัศจรรย์ที่ได้รู้ว่างานแข่งไตรกีฬางานนั้นคือ “ลากูน่า ภูเก็ต ไตรกีฬา”
ทำไมการแข่งรายการนี้ถึงได้รับความนิยมจากนักไตรกีฬาทั่วโลก
ทำไมคนที่เคยแข่งแล้วถึงกลับมาแข่งที่นี่อีกครั้ง และ
ทำไมคุณถึงควรมาแข่งที่นี่
ลากูน่าภูเก็ต ไตรกีฬา มีการจัดการแข่งขันขึ้นครั้งแรกที่หาดบางเทา จังหวัดภูเก็ต ประเทศไทย เมื่อปี ค.ศ 1994 โดยผู้ชนะการแข่งในครั้งนั้นคือ Mike Pigg จากสหรัฐอเมริกา ทุกๆปีจะมีนักไตรกีฬาระดับโลกที่เป็นผู้ชนะการแข่ง Kona Hawaii Ironman World Championship เช่น Mark Allen, Paula Newby-Fraser, Craig Alexander หรือ นักกีฬาที่ได้เหรียญในโอลิมปิก เช่น Jan Frodeno มาเข้าร่วมการแข่งและ ตั้งแต่ปี 2016 รายการนี้ได้ปรับระยะการแข่งเป็น ว่ายน้ำ 1.8 กิโลเมตร ปั่นจักรยาน 50 กิโลเมตร และจบด้วยการวิ่ง ระยะทาง 12 กิโลเมตร
จุดเด่นของเส้นทางการแข่งงานนี้คือ การว่ายน้ำในทะเลระยะทาง 1250 เมตร และต่อด้วย 550 เมตรในทะเลสาบบริเวณโรงแรมลากูน่า ภูเก็ต หลังจากนั้นผู้เข้าแข่งขันทุกคนจะต้องปั่นผ่านถนนในสวนยางพาราและถนนเลียบหาดในทอนและหาดบางเทา และปิดท้ายด้วยการวิ่ง 12 กิโลเมตรผ่านสนามกอล์ฟและถนนบริเวณเครือโรงแรมลากูน่า
เส้นชัยและจุดเปลี่ยนการแข่งขัน (ว่ายน้ำเป็นจักรยาน และ จักรยานเป็นวิ่ง) จะอยู่ที่บริเวณ The Laguna Grove ซึ่งเป็นพื้นที่โล่งระหว่างโรงแรม ดุสิต ลากูน่า และ โรงแรมลากูน่า บีช
โดยรวมแล้วการแข่งที่นี่เหมาะมากกับนักไตรกีฬาที่มีครอบครัวและต้องการพาครอบครัวมาพักผ่อน นอกจากนี้ในวันเสาร์เย็นยังมีงานวิ่งมินิมาราธอน ที่มีระยะการแข่งให้เลือก คือ 2, 5, 10 กิโลเมตร ที่เหมาะกับการให้สมาชิกในครอบครัวได้มีโอกาสออกกำลังกาย
บันทึกการแข่ง
ก่อนแข่ง
สำหรับผมรายการนี้อาจจะเป็นรายการสุดท้ายของปีนี้แล้ว ผมนอนหลับได้ไม่ค่อยดีในคืนก่อนแข่ง เพราะตื่นเต้นและกลัวว่าจะตื่นสายในเช้าวันแข่งแต่โชคดีว่าคืนก่อนหน้านั้นผมนอนได้เต็มที่ จึงไม่ค่อยมีอาการเหนื่อยเพลียและง่วงนอนในเช้าวันแข่ง
ว่ายน้ำ 1.8 กม.
ผมออกตัวว่ายน้ำไปอย่างช้าๆและค่อยๆเร่งความเร็วขึ้นโดยพยายามว่ายตามนักกีฬาที่เร็วกว่าตามแผนที่โค้ชวางไว้ ช่วงการว่ายน้ำในทะเลเพื่อเข้าฝั่งและช่วงการว่ายน้ำในทะเลสาบเป็นช่วงที่ผมเริ่มเร่งความเร็วและทำเวลาได้ดี
สภาพน้ำทะเลและน้ำในทะเลสาบในวันแข่งราบเรียบ ว่ายง่าย และสะอาด นอกจากนั้นการดูแลด้านความปลอดภัยของนักกีฬายังทำได้อย่างยอดเยี่ยม เห็นได้จากการวางตำแหน่งของเรือแคนูและไลฟ์การ์ด ทุกๆ 200-300 เมตร ทั้งในทะเลและลากูน
หลังว่ายน้ำจบ ผมค่อนข้างพอใจกับเวลารวมถึงร่างกายก็ยังคงรู้สึกดีและพร้อมกับการแข่งที่เหลืออยู่
จักรยาน 50 กม.
ผมพยายามใช้เวลาให้น้อยที่สุดในช่วงเปลี่ยนการแข่งจากว่ายน้ำมาเป็นจักรยาน หลังจากออกจากจุดเปลี่ยนการแข่งจนถึงกิโลเมตรที่ 20 ผมใช้ความเร็วที่ไม่เร็วมาก และพยายามให้แน่ใจว่าได้เติมพลังงานและโซเดียมเพื่อเอาไว้ใช้ในช่วงการปั่นขึ้นเขา
การปั่นขึ้นเขาจะเริ่มต้นเมื่อคุณปั่นถึงช่วงกิโลเมตรที่ 30-40 บริเวณก่อนถึงหาดในทอนและหลังจากหาดในทอนก่อนเข้าจุดเปลี่ยนการแข่งอีกครั้ง ซึ่งคุณจะต้องปั่นไต่ที่ความชันสะสมประมาณ 300 เมตร จุดที่ยากมากที่สุดสำหรับผมน่าจะเป็นเนินเขาก่อนเข้าหาดในทอนที่กินระยะทางประมาณ 400-500 เมตร
การรักษาความปลอดภัยให้กับนักแข่งในการปั่นจักรยานถือว่าทำได้ดีในระดับปานกลางเพราะบ่อยครั้งที่ผมต้องชะลอความเร็วเพื่อให้รถและมอเตอร์ไซค์ตัดผ่านเลนการแข่ง
จุดบริการน้ำดื่มทั้งสองจุดบริเวณ กิโลเมตร ที่ 20 และ 30 ทำได้ดีมาก เพราะมีทั้งน้ำดื่ม เกลือแร่ และ ฟองน้ำ และเหล่าอาสาสมัครที่พร้อมยื่นของเหล่านี้ให้คุณเมื่อไปถึง
วิ่ง 12 กม.
หลังจบการปั่นจักรยาน 50 กิโลเมตรที่มีความชันสะสมประมาณ 420 เมตร ผมเริ่มต้นการแข่งในช่วงการวิ่งแบบค่อยๆเป็นค่อยๆไปและค่อยๆทำความเร็วเพิ่มขึ้น
หลังจบการวิ่งรอบแรก ผมยังคงสามารถรักษาความเร็วไว้ได้ที่เพซ 5:10-5:30 นาที/กม แต่ช่วง 3-4 กิโลเมตรสุดท้ายต้องยอมรับว่าเป็นช่วงที่ร่างกายเริ่มแสดงอาการความเหนื่อยล้าออกมาให้เห็น ความเร็วที่เคยทำได้ดีก็ตกลงมาอยู่ที่เพซ 6-7 นาที/กม และอาการตะคริวก็พร้อมที่จะแทรกเข้ามาที่กล้ามเนื้อขาทุกๆส่วนเมื่อพยายามเร่งความเร็วมากขึ้น
เลนการแข่งช่วง 3-4 กิโลเมตรแรกถูกกั้นพื้นที่ไว้ค่อนข้างแคบทำให้ไม่สามารถวิ่งตีคู่กันได้แต่หลังจากผ่านช่วงนี้ไปจะเป็นการวิ่งในสนามกอล์ฟที่ร่มรื่น และ เส้นทางวิ่งในหมู่บ้านของลากูน่าซึ่งมีช่องเลนการวิ่งที่กว้างขวาง
จุดให้น้ำทั้งสามจุดตลอดการวิ่ง ยังคงทำได้ดีมาก น้ำ, น้ำแข็ง, ฟองน้ำ ,โค้ก และเกลือแร่ มีพร้อมให้บริการ นักกีฬา
สองกิโลเมตรสุดท้าย ไม่ว่าผมจะพยายามเคลื่อนที่ร่างกายไปข้างหน้าให้เร็วมากแค่ไหนแต่เหมือนกับว่าทุกส่วนของร่างกายตะโกนพร้อมกันให้ผมหยุด
หลังแข่ง
3:34 ชั่วโมง คือ เวลาที่ผมใช้ไปในการแข่งครั้งนี้
ผมเข้าเส้นชัยด้วยอาการตะคริวที่บริเวณต้นขาและน่อง จากการขาดเกลือแร่และการเสียเหงื่อจากสภาพอากาศแบบร้อนชื้นช่วงปั่นจักรยานและวิ่ง หลังเข้าเส้นชัยผมถูกพานั่งรถเข็นไปที่เต๊นท์พยาบาลเพื่อให้ดื่มเกลือแร่และนอนพักเพื่อป้องกันอาการ Heat Stroke จากอากาศร้อน
ความสมหวัง ความผิดหวัง ความรู้สึกดีใจ ความรู้สึกเสียใจ ผสมปนเปกันไปหลังจากที่ผมเข้าเส้นชัย
สมหวังที่ปั่นจักรยานผ่านช่วงยากๆมาได้โดยปลอดภัย ผิดหวังที่เร่งไม่ขึ้นในช่วงสามกิโลเมตรสุดท้ายของการวิ่ง และเหนือสิ่งอื่นใดคือ ดีใจที่ตัวเองมีโอกาสได้กลับมาแข่งที่นี่อีกครั้งเป็นครั้งที่ 10 และได้เห็นพัฒนาการและการเปลี่ยนแปลงไปในทางที่ดีขึ้นของ ลากูน่า ภูเก็ต ไตรกีฬา
TC triathlon
Subscribe, like and share for more useful articles, photo and VDO clips at
Facebook: https://www.facebook.com/MrTCtriathlon/
Instagram: https://www.instagram.com/tctriathlon/
Twitter: https://twitter.com/MrTCtriathlon
YouTube: https://www.youtube.com/channel/UCXnq4NAFhRLwm45LvYl8vhQ