งานวิจัยใหม่ชี้ ไขมัน โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการวิ่งมาราธอนได้
ในกลุ่มนักวิ่งมาราธอนเราทราบกันดีว่า อาหารที่นักวิ่งเลือกรับประทานนั้นส่งผลต่อประสิทธิภาพในการวิ่งด้วย ซึ่งมีข้อมูลยืนยันจากการศึกษาและงานวิจัยหลายชิ้นพิสูจน์แล้วว่าเป็นเรื่องจริง ล่าสุดมีการศึกษาเกี่ยวกับพฤติกรรมทางโภชนาการของนักวิ่งมาราธอนระดับกลางเพื่อหาคำตอบว่า การบริโภคอาหารมีความสัมพันธ์กับประสิทธิภาพของการวิ่งมาราธอนหรือไม่
โดยทีมนักวิจัยจาก Barcelona และ Spain นำโดย Emma Roca Ph.D. นักวิ่งอัลตร้ามาราธอนอันดับต้นๆ ในสหรัฐอเมริกา ซึ่งเธอได้รับรางวัล Leadville Trail 100-miler (ปี 2014) และชนะการแข่งขันอันดับที่ห้าในรายการ Western States (ปี 2015) ได้ทำการวิจัยกับกลุ่มนักวิ่งระดับกลาง โดยมีผู้เข้าร่วมทดสอบที่ได้รับการคัดเลือกจาก Barcelona Marathon 2016 เพศชาย อายุเฉลี่ย 38 ปี และทุกคนมีประวัติการเป็นนักวิ่งมาเป็นเวลา 9 ปี
จากการศึกษาใหม่พบว่า นักวิ่งที่บริโภคอาหารแบบไดเอทมีผลต่อประสิทธิภาพในการวิ่งและสุขภาพหัวใจ โดยนักวิ่งที่บริโภคพวกไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว (Monounsaturated fat), ไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน (Polyunsaturated fat), โพแทสเซียม และแมกนีเซียม น้อย จะวิ่งได้ช้ากว่าในกลุ่มนักวิ่งที่บริโภคสารอาหารที่กล่าวมามากกว่าอย่างมีนัยสำคัญ โดยนักวิ่งมาราธอนที่วิ่งได้เร็วกว่า จะกินอาหารจำพวกถั่ว เมล็ดธัญพืช ผัก และผลไม้
ตารางเปรียบเทียบโภชนาการระหว่างนักวิ่งกลุ่มเร็วกับกลุ่มช้า
นักวิ่งกลุ่มที่วิ่งเร็ว (กลุ่ม Fast) มีการบริโภคไขมันมากกว่ากลุ่มนักวิ่งที่วิ่งช้า (กลุ่ม Slow) โดยเฉพาะไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยวและไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน นอกจากนี้พวกเขายังได้รับแคลอรี่มากขึ้น (ส่วนใหญ่มาจากการบริโภคไขมันมากขึ้น), โพแทสเซียม, แมกนีเซียม และไฟเบอร์ แม้ว่านักวิ่งเร็วจะมีน้ำหนักน้อยกว่านักวิ่งช้า และมีการซ้อมวิ่งมากกว่า 50 ไมล์ต่อสัปดาห์เทียบกับนักวิ่งช้าที่ซ้อม 40 ไมล์ต่อสัปดาห์ก็ตาม แต่ความแตกต่างทั้งสองอย่างนี้ไม่มีนัยสำคัญ

นักวิจัยกล่าวว่า นักวิ่งมาราธอนที่บริโภคไขมัน โพแทสเซียม และแมกนีเซียม ในปริมาณที่เพียงพอจะทำความเร็วได้ดีกว่าและมีสุขภาพหัวใจที่ดีขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกลุ่ม Fast ที่มีน้ำหนักน้อยกว่ากลุ่ม Slow นักวิจัยเชื่อว่าการมีน้ำหนักตัวน้อยอาจได้รับประโยชน์จากการวิ่งมาราธอนในแง่ของอาการปวดกล้ามเนื้อหลังแข่งและระดับสารชีวเคมีในเลือด โดยนักวิ่งกลุ่มช้ามีระดับสารชีวเคมีสูงซึ่งเกี่ยวข้องกับความเสียหายและการอักเสบของกล้ามเนื้อ
นอกจากนี้นักวิจัยยังแนะนำว่า เมื่อซ้อมวิ่งมาราธอนนักวิ่งควรบริโภคแคลอรีในปริมาณที่เพียงพอทุกวัน โดยเลือกรับประทานอาหารที่มีไขมันที่ดีต่อสุขภาพอย่างเช่นพวกถั่ว ธัญพืช ผัก ผลไม้ รวมถึงอาหารที่อุดมไปด้วยโพแทสเซียม และแมกนีเซียม สารอาหารเหล่านี้จะช่วยเปลี่ยนนักวิ่งที่วิ่งช้าให้สามารถวิ่งเร็วขึ้นได้
ที่มา : https://bit.ly/2XYXKhI
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming