[Performance Review] Nike Vapor Street Flyknit
รองเท้าลำลอง ที่เอาต้นแบบมาจาก รองเท้าวิ่งแนว racing
Vapor Street = Vapor Fly Elite – Carbon Plate – Zoom X Foam + React Foam
จากที่ให้ข้อมูล และ preview ของแต่ละรุ่นไว้ ของรุ่นต่างๆในซีรีส์ Breaking 2 Project ที่โพสต์ https://goo.gl/jKSKCw
ตอนนี้วิ่งสะสมระยะพอประมาณแล้ว เลยมาแชร์ประสบการณ์กัน
Vapor Street เป็น เวอร์ชั่นลำลอง ของรองเท้าวิ่ง รุ่นท็อปสุด ของค่าย Nike คือ Zoom Vapor Fly Elite ที่ Eliud Kipchoge ใช้ใน Breaking 2 Project (มาราธอนที่เร็วที่สุดในโลก อย่างไม่เป็นทางการ ด้วยเวลา 2:00:25 ชั่วโมง) และแชมป์ Berlin Marathon 2017 (ตอนนี้มีรุ่นต่อยอด คือ Vapor Fly Elite FlyPrint)
– – – – –
“สวย นุ่ม เบา”
เรื่องความสวย แน่นอนว่าเป็นเรื่องแล้วแต่คนชอบ ส่วนตัวคู่นี้ถูกจริตมาก
ตอนเห็นภาพหลุดมาใหม่ๆ รู้สึกเหมือน Nike กลัวคนอื่นทำของเลียนแบบ รุ่น Vapor Fly Elite เลยทำเองซะเลย เปลี่ยนใช้ โฟม React แทน โฟม Zoom X และ ไม่มีแผ่น carbon plate
ครั้งแรกที่ได้ยินถึงรุ่นนี้ กังวลเหมือนกัน ว่าจะหนักไหม จะกระด้างเสียของไหม ถ้าเอาโฟมไก่กา มาใส่ เพราะ ต้นแบบ Vapor Fly Elite ใช้โฟมตัวท็อปสุดของ Nike ชื่อโฟม Zoom X ที่ระดับ ความ “นุ่ม เด้ง เบา” นี่ที่สุดแล้ว (ข้อเสียของโฟม Zoom X คือไม่ทน ถลอกง่าย สึกง่าย)
พอรู้ว่าเป็นโฟม React ก็ถือว่า ทำได้น่าพอใจเลย แม้จะไม่ “เบา นุ่ม เด้ง” ดีเลิศเท่า Zoom X ก็ยังอยู่ในระดับที่ดีมาก และได้ความทนเพิ่มขึ้นมา
น้ำหนัก Vapor Street Flyknit ไซส์ 10 US อยู่ที่ 8.0 ออนซ์ (225 กรัม) ถือว่าเบาใช้ได้เลย ลองเทียบกับรุ่นอื่นดู
Vapor Fly 4% (10 US) = 7.3 ออนซ์ (211 กรัม)
Zoom Fly (10.5 US) = 9.1 ออนซ์ (258 กรัม)
Epic React Flyknit (10.5 US) = 8.5 ออนซ์ (240 กรัม)
– – – – –
“หนา + นุ่ม + ไม่มีแผ่น carbon plate = ยวบ”
แผ่น carbon plate ที่อยู่ใน Vapor Fly 4% และ Vapor Fly Elite (ส่วน Zoom Fly ก็ใช้ plate แต่อีกชนิดนึง เรียกว่า carbon infused nylon plate) พอรุ่นนี้ถูกเอาออก เลยเหมือน “โครง” ของพื้นหายไป เหลือแค่โฟม หนาๆ นุ่มๆ (นึกภาพ Hoka One One Clifton 1)
และเรื่อง “โครง” นี่ก็ไม่ใช่Nike ยี่ห้อเดียวที่ใช้ อย่าง adidas ก็มี Torsion System ส่วน On ก็มี Speed Board
พื้นใช้โฟม React เหมือน Epic React และ หนากว่า พอเสริมกับที่ไม่มีแผ่น carbon plate ทำให้รู้สึกยวบกว่า Epic React มาก
อย่าง Epic React พอลงเท้า จะรู้สึกเริ่มด้วย “ความนุ่ม” พอถึงจุดนึง “ความแน่น” จะมาแล้วส่งด้วย “ความเด้ง” ความรู้สึกคล้าย Fresh Foam ของ New Balance Zante V1 ความรู้สึกที่บางคนเรียกว่า “สู้เท้า”
พอโฟมชนิดเดียวกัน หนาขึ้น “ความนุ่ม” มาล้วนๆ ยังไม่ทันถึง “ความแน่น” ก็ก้าวต่อแล้ว ผลคือ รู้สึก “จม” หรือ “ยวบ”
ซึ่งไม่ใช่เรื่องใหญ่มาก สำหรับคนวิ่งเพซเนิบๆ ไม่เกิน 60-90 นาที จะว่าไป ออกแนวเพลินดีด้วยซ้ำ
พอนานกว่านั้น เท้าจะเริ่มเมื่อย ด้วยความที่ “กล้ามเนื้อมัดเล็ก” ของเท้า ต้องงานหนักขึ้น เวลาอยู่บนพื้นที่ไม่มั่นคง เช่น พื้นนิ่ม ใครเคยลอง squats บนลูกบอล bosu หรือ ทราย จะรู้ว่าต้องใช้ “กล้ามเนื้อมัดเล็ก” ที่ปรกติไม่ต้องใช้เวลา ทำ squats บนพื้นที่มั่นคง
ส่วนเวลาเร่งความเร็ว จะกดแล้ว “ยวบ” เปลืองแรง
วิ่งเนิบๆ เพซ 6:00 นาที/กม หรือช้ากว่า เวลาไม่เกิน 60-90 นาที ดูจะเป็นการใช้สอยที่กำลังลงตัวของรุ่นนี้
– – – – –
วิ่งแล้วพื้นไม่ “ดีด” เหมือนในวิดีโอ
เราเคยลงวิดีโอ ดัดรองเท้า Vapor Street ให้งอ แล้วให้พื้น “ดีด” คืนตัว เปรียบเทียบกับ Zoom Fly (ดูเพิ่มได้โพสต์ https://goo.gl/PZXUrE)
ผลปรากฏว่า Vapor Street “ดีด” สูงกว่า
นี่แปลว่า ใส่วิ่งแล้วจะ “ดีด” ส่งมากกว่าไหม —> เอาเข้าจริง วิ่งแล้วก็ไม่ “ดีด” มากนะ
และในวิดีโอ การดีดของ 2 รุ่น ก็มีที่มาต่างกัน Zoom Fly มาจากการงอตัวของแผ่น carbon infused nylon plate ส่วน Vapor Street มาจากตัวโฟม
– – – – –
“วิ่งทางตรง”
ทรงพื้นของ Vapor Street คล้ายกับ Vapor Fly 4%
หรือ ให้ชัดขึ้น เทียบกับ Zoom Fly แล้ว Vapor Street (ดูรูปเพิ่มได้ในคอมเม้น)
– หน้าเท้า กว้างเท่ากัน
– อุ้งเท้า เรียวกว่า (มาก)
– ส้นเท้า เรียวกว่า
และพื้นช่วงหน้าเท้า แทบไม่ได้ป้านออก (ตัวอย่างที่ป้านออก เช่น adidas Pure Boost DPR ที่เคยรีวิวไว้ที่โพสต์ https://goo.gl/JK5TTZ หรือ Hoka One One Clifton4)
ด้วย “ความหนา และเรียว” ของพื้น ประกอบกับ “ความนุ่ม” (ground feel ลดลง) เวลาลงเท้าไม่ดี ลงเท้าปลิ้น ไม่เต็มพื้น midsole หรือ ลงเท้าบนพื้นไม่เรียบ ส่งผลให้หลายครั้ง ข้อเท้าเกือบพลิก (ถ้ามี plate จะมี ground feel ดีขึ้น)
อีกส่วนนึง ที่ไม่ได้ช่วยมากเท่าที่ควร คือ เนื้อผ้า และการดีไซน์ ของ upper
ผ้า upper ใช้เป็นผ้าถัก Flyknit ที่ไม่ยืดหยุ่น เนื้อผ้าด้านในค่อนข้างสาก มีส่วนที่เป็นผ้ายืดหยุ่นเล็กๆช่วงหลังเท้า และ ไม่มี FlyWire (นึกภาพ Epic React FlyKnit แบบเรียวกว่า รัดกระชับ น้อยกว่ามาก)
ส่วนตัว รู้สึกว่ามันรักษาให้เท้าเราอยู่ “เป็นชิ้นเดียวกัน” กับพื้นรองเท้า ได้ไม่ดีเท่า Vapor Fly 4%
วิ่งทางตรง โค้งไม่มาก ลงเท้าเต็มๆ รุ่นนี้ใช้ได้ นอกเหนือจากนั้น มีโอกาสข้อเท้าพลิก
วิ่งเส้นทางที่เปลี่ยนทิศทางบ่อย เช่น city run ถ้าเพซไม่เร็วมาก ก็พอไหว โดยต้องมีสติในการลงเท้า (footing) มากหน่อย (อย่างกับวิ่งเทรลเลย)
และด้วยความที่พื้นช่วงอุ้งเท้าเรียวมาก คนที่ปรกติใส่รองเท้าที่มี support ช่วงอุ้งเท้า เช่น คนเท้าแบนที่เท้าล้มเข้าใน (over pronation) จะรู้สึกชัดว่า “อุ้งเท้าลอย”
– – – – –
ส่วนตัวรุ่นนี้เลือกใส่ไซส์ 10 US
ได้ลอง 10.5 US ด้วย ใส่ไม่ได้ หลวม จนแทบจะหลุดเลย
เทียบกับไซส์ที่ใส่รุ่นอื่น
Vapor Fly 4% = 10 US
Zoom Fly = 10.5 US
Epic React Flyknit = 10.5 US
แน่นอนว่า เท้าแต่ละคนต่างกัน ถ้าได้ลองเองได้จะดีที่สุด
– – – – –
“พื้นทน ใช้ได้เลย”
จากที่สังเกต ถือว่าพื้นแทบไม่สึกเลย กระทั่งตรง “ส้นเท้า” ด้านนอกที่ชอบสึก ชอบถลอกกัน โดยเฉพาะ Zoom Fly และ Vapor Fly 4%
(ส่วนตัว ใส่ Zoom Fly ก็ไม่สึกมาก เคยลงเปรียบเทียบ Zoom Fly ที่วิ่งไป 200 กม ไว้ที่โพสต์ https://goo.gl/1wUgbG)
– – – – –
ถึงตรงนี้ ถ้าจะให้อธิบาย Vapor Street สั้นๆ คงจะเป็น
รองเท้าที่ โครงสร้าง “ไม่กระชับ” มาก บนพื้น “หนา นุ่ม ยวบ แคบ” ใส่วิ่ง easy pace สนุกๆ ใช้กับ route ที่ไม่มีเปลี่ยนทิศทางบ่อยๆ
กับป้ายราคาที่อเมริกา $180 (ราว 6,000 บาท) + tax
หรือ เมืองไทย เคยเข้า สีเขียว Olive กับ สีน้ำเงิน Atmos Bangkok (หมดวันแรกที่วางขาย) ราคาป้าย 6,400 บาท
หรือ resell กัน ในเมืองไทยราคาตั้งแต่ 7,000 – 10,000 บาท โดยเฉพาะสีแดง university red
ต้องถามว่า ในแง่รองเท้าวิ่ง “เหมาะไหม” กับการใช้งานของเรา และ “คุ้มไหม” แล้วให้แต่ละคน ตอบตัวเองกันดีกว่า
ส่วนตัว จบตั้งแต่ “ความสวย” แล้วครับ #outrunTH
#nikerunningclub #nike #nikeshoes #nikethailand #trainracebeer#imagearist #breaking2 #breaking2project #NikeTH #NikeReact#VapoNike SportswearoNike+ Run ClubRun Club
หมายเหตุ
ใครที่สับสนว่ารุ่นไหนคือรุ่นไหน เพราะมีหลายรุ่นที่ชื่อคล้ายกัน มีคำพวก “Zoom” “Vapor” “Fly” เราเคยลงไว้ ว่าแต่ละรุ่นต่างกันยังไง ที่โพสต์ https://goo.gl/jKSKCwx
สภาพทดสอบ ระยะเกิน 40 กม. (2 คู่รวมกัน) โดยมากเป็น city run เพซ 5:00 – 7:30 นาที/กม อากาศร้อนชื้น (อุณหภูมิ 30-35 องศา) ไม่มีฝน พื้นผิว พื้นถนนคอนกรีต ฟุตบาท ผสม ถนนลาดยาวในสวน
เป็นความเห็นส่วนตัว จากการใช้งานจริง และ รองเท้าเป็นรองเท้าที่ซื้อใช้เอง ไม่ใช่ sample ที่ Nike ให้มาเพื่อรีวิว
ผู้ลอง เป็นคนเท้ากว้าง 2E/4E บาน แบน ส่วนหลังเท้าไม่อูม
สังเกตว่า สำหรับ Nike รองเท้ากลุ่ม Sportswear หรือ ลำลอง กล่องจะสีแดง เช่น Vapor Street คู่นี้
ส่วนรองเท้า performance หรือ ใส่ออกกำลังกาย เช่น รองเท้าวิ่ง จะกล่องสีส้ม
สนใจเรื่องรองเท้าวิ่งกันแล้ว อย่าลืม “ท่าวิ่ง” และ “การสร้างกล้าเนื้อ” ควบคู่กันไปด้วยนะครับ จะลดความเสี่ยงเรื่องการบาดเจ็บ และวิ่งสนุกกันได้นานๆ