รู้จักเทรนเนอร์ ตัวช่วยสำหรับการปั่นจักรยานในหน้าฝน
ตัวช่วยสำหรับการปั่นจักรยานในหน้าฝน ถึงหน้าฝนทีไร นักปั่นอย่างเรา ๆ ก็เซ็งหน่อย ๆ จริงไหมครับ ฟ้าฝนตกหนัก ก็ออกไปปั่นจักรยานข้างนอกไม่ได้ หรือวันไหนมองว่าฝนแค่นี้ออกได้ ก็ดันไปเจอพื้นถนนที่ไม่เอื้อต่อการปั่นเอาเสียเลย แต่ใจในอยากปั่น โปรแกรมซ้อมที่วางไว้ก็มี จะทำอย่างไรดี ตรงนี้แหละครับ ที่เราจะมาแนะนำตัวช่วยที่ทำให้นักปั่นอย่างเรา สามารถซ้อมได้ตามแผนเดิม เพิ่มเติมคือไม่เปียก น่าสนใจไหมล่ะ ไปดูตัวช่วยกันเลยครับ
เทรนเนอร์ คืออะไร?
นักปั่นจักรยานอาจเรียกกันติดปากว่า เทรนเนอร์ แต่ชื่อที่ถูกต้องคือ Indoor Trainer ครับผม ซึ่งจะเป็นอุปกรณ์ที่ใช้ติดตั้งกับจักรยานที่เราใช้กันประจำนี่แหละครับ เพื่อทำให้สามารถปั่นในบ้านหรือในห้องของเราได้ โดยที่ยังสามารถเสริมสร้างความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อและพัฒนาทักษะในการปั่นจักรยานได้อย่างต่อเนื่อง ส่วนมากจะเอาไว้ใช้ทดแทนในเวลาที่นักปั่นไม่สามารถออกไปปั่นจักรยานข้างนอกได้ จึงเหมาะอย่างยิ่งกับหน้าฝนอย่างในช่วงนี้ และยังเหมาะกับนักปั่นที่มีเวลาจำกัด แต่อยากรักษาสภาพความฟิตเอาไว้อีกด้วย
ประเภทของเทรนเนอร์ทีสองแบบหลัก ๆ คือ
1.เทรนเนอร์แบบสามลูกกลิ้ง
เป็นเทรนเนอร์ที่มีรูปร่างลักษณะแบบที่ผมเห็นครั้งแรกแล้วรู้สึกได้ถึงความท้าทายทันทีครับ เพราะไม่มีส่วนใดของเทรนเนอร์ที่ยึดติดกับตัวจักรยานเลย ถือเป็นการจำลองการปั่นจักรยานแบบเสมือนจริงสุด ๆ เนื่องจากนักปั่นจะต้องทรงตัวอยู่บนเทรนเนอร์ชนิดนี้ด้วยตัวเอง ต้องใช้สติและทักษะมากพอตัว
การใช้งานก็จะเริ่มจากการปรับระยะลูกกลิ้งของเทรนเนอร์ ให้เข้ากับระยะของฐานล้อจักรยานครับผม จากนั้นก็ยกจักรยานคันเก่งของเราขึ้นไปวางบนเทรนเนอร์ แล้วเหยียบบนอะไรสักอย่างเพื่อขึ้นไปนั่งบนอานให้ได้ จากนั้นค่อย ๆ เริ่มปั่นโดยที่มือยังดันผนังหรืออะไรก็ได้เพื่อพยุงตัวไว้ก่อน
พอเริ่มทรงตัวปั่นได้ดีแล้ว ก็ปั่นไปตามโปรแกรมการซ้อมได้เลย หลายคนบอกว่าเทรนเนอร์แบบนี้ช่วยเพิ่มทักษะการทรงตัวในพื้นที่แคบให้ดีขึ้นได้อย่างผิดหูผิดตาครับ และยังเหมาะกับการ recovery หลังจากจบงานปั่นมาด้วย เพราะกล้ามเนื้อขาไม่ต้องทำงานหนักเท่ากับการออกไปปั่นจักรยานข้างนอก แต่หากจะใช้ก็ต้องระมัดระวังนิดนึงครับ เพราะมีโอกาสที่จะเกิดอุบัติเหตุได้ตลอดเวลาเหมือนกัน
2.เทรนเนอร์ที่แบบติดยึดกับจักรยาน
สำหรับเทรนเนอร์แบบนี้ สร้างความอุ่นใจให้กับผมขึ้นมาหน่อยครับ เพราะมีส่วนของเทรนเนอร์ที่ยึดติดกับตัวจักรยานของเราได้ โดยเทรนเนอร์ลักษณะนี้ จะแบ่งได้เป็น 2 แบบด้วยกันครับ ได้แก่
2.1 เทรนเนอร์แบบสัมผัสขอบล้อบริเวณขอบเบรก
ผมสังเกตว่าในไทยไม่ค่อยเป็นที่นิยมนะครับ น่าจะเพราะเทรนเนอร์ชนิดนี้ใช้กับขอบล้อโลหะที่เป็นขอบ Rim Brake เท่านั้น
2.2 เทรนเนอร์สัมผัสหน้ายาง
อาจจะพูดได้ว่าเป็นเทรนเนอร์ชนิดที่ใช้กันอย่างแพร่หลายที่สุดในไทย โดยเทรนเนอร์ชนิดนี้สามารถปรับการออกแรงหนักเบาได้ ด้วยการไปปรับเพิ่มหรือปรับลดแรงกดบนหน้ายาง เพื่อให้เกิดความฝืดระหว่างหน้ายางกับพื้นผิวสัมผัสของลูกกลิ้ง ซึ่งตัวลูกกลิ้งก็จะเชื่อมกับตัว Loader อีกทีหนึ่ง และเทรนเนอร์สัมผัสหน้ายางนี้ ยังแบ่งออกได้เป็น 3 ระบบครับ ได้แก่
2.2.1 ระบบแม่เหล็ก ซึ่งระบบนี้จะใช้แม่เหล็กเป็นเครื่องมือสร้างความต้านทานของการหมุน Loader หมายความว่าเทรนเนอร์ระบบนี้ใช้หลักการตามวิทยาศาสตร์เบื้องต้น คือ การดูดและการผลักกันของขั้วแม่เหล็ก และยังเป็นระบบที่มีให้เลือกหลากหลายแบบ มีตั้งแต่ระดับคุณภาพทั่ว ๆ ไป ราคาน่าคบ ไปจนถึงระดับคุณภาพสูงกันเลยทีเดียว
2.2.2 ระบบ Fluid ระบบนี้จะใช้ของเหลวหนืดเป็นตัวสร้างแรงต้านทานให้กับกังหันหรือใบพัดที่แช่อยู่ในของเหลวครับ เรียกกันว่า Viscous Fluid ถือเป็นอีกหนึ่งระบบที่สร้างความฝืดให้กับการหมุนได้เป็นอย่างดี
2.2.3 ระบบกังหันลม ระบบนี้จะคล้ายคลึงกับระบบ Fluid แต่จะแตกต่างกันตรงที่ระบบนี้จะใช้กังหันลมขนาดใหญ่ แทนที่จะใช้กังหันลมขนาดเล็กแช่ในของเหลวหนืดครับผม
เอาล่ะ…พอมีเทรนเนอร์แล้ว นักปั่นอย่างเรา ๆ ก็อาจจะเบื่อกับการปั่นในพื้นที่แคบ ๆ ปั่นไป มองผนังไป มันก็ดูไม่ได้รสชาติในการปั่นใช่ไหมครับ ปัญหาเหล่านั้นจะหมดไป หากคุณมี Zwift!!
Zwift คือ เกมปั่นจักรยานออนไลน์
ที่สามารถเลือกสนามแข่งขันที่มีอยู่อย่างหลากหลายได้ด้วยตัวเอง และยังสามารถแข่งขันร่วมกับเพื่อนนักปั่นจากทั่วทุกมุมโลกได้อีกด้วย ฟังดูน่าสนใจใช่ไหมครับ สำหรับนักปั่นสายเกมเมอร์อย่างผม ไม่ใช่แค่น่าสนใจ แต่มันสนุกมากเลยทีเดียว สนุกจนอยากชวนทุกคนเข้าไปร่วมปั่นด้วยกัน
อุปกรณ์ที่จำเป็น จะว่ามีมากก็มาก จะว่ามีน้อยก็น้อยครับ คือมันก็แล้วแต่ว่าใครอยากจะทุ่มเทมาก ทุ่มเทน้อย แต่ไม่ว่าจะมากน้อย ก็รับรองความมันส์
- Computer และ Internet
- ANT+ USB
- จักรยานคันไหนของคุณก็ได้ ที่สามารถขึ้นเทรนเนอร์ได้
- เทรนเนอร์ จะเป็นแบบไหนก็ใช้ได้หมด
- Speed / Cadence Sensor รองรับการส่งสัญญาณแบบ ANT+
- ตัวโปรแกรม หรือ Game Zwift
- Heart Rate Sensor รองรับการส่งสัญญาณแบบ ANT+ อันที่จริงจะไม่ใช้ก็ได้นะครับ แต่สำหรับนักปั่นที่ต้องการพัฒนาความแข็งแรงและความสามารถของร่างกาย ขอแนะนำให้ใช้
- Power Meter รองรับการส่งสัญญาณแบบ ANT+ อันนี้ก็เช่นเดียวกับข้อเมื่อกี้ ถ้าอยากพัฒนาประสิทธิภาพของตัวเองก็ใช้ แต่ไม่ใช้ก็ไม่มีปัญหา
เมื่อพวกเรามีตัวช่วยซ้อมปั่นในช่วงหน้าฝนแล้ว ผมเชื่อว่าฟ้าฝนก็ไม่สามารถมาขัดขวางการซ้อมเพื่องานปั่นครั้งต่อไปของพวกเราได้แล้วครับ แถมพวกเรายังสามารถทดลองใช้เทคนิคการปั่นจักรยานแบบใหม่ ๆ บางเทคนิคบนเทรนเนอร์ก่อนที่จะนำไปใช้จริงตอนปั่นจักรยานข้างนอกได้อีกด้วย ไม่ว่าจะนั่งคิดหรือนอนคิด ผมก็คิดว่าเทรนเนอร์จำเป็นสำหรับนักปั่นจักรยานอย่างพวกเราครับผม จัดกันมาสักหน่อยไหม แล้วไปเจอกันใน Zwift!!