เราทุกคนรู้ดีว่าการออกกำลังกายเป็นประจำจะทำให้เรามีสุขภาพที่ดี และสามารถลดความเสี่ยงของการเกิดโรคร้ายได้หลายอย่าง แต่คุณเคยคิดไหมว่า ถ้าเราไม่ได้ออกกำลังกายหรือมีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยเกินไป จะส่งผลอย่างไรต่อร่างกายของเราบ้าง? ต่อไปนี้คือ 12 สิ่งที่จะเกิดขึ้นถ้าคุณไม่ออกกำลังกาย
จะเกิดอะไรขึ้นถ้าคุณไม่ออกกำลังกาย?
1. นอนหลับยาก
การนอนหลับไม่เพียงพอหรือนอนหลับไม่สนิทในตอนกลางคืนอาจดูเหมือนไม่มีอะไรต้องกังวล แต่ถ้าเกิดขึ้นเป็นประจำ ก็อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพตามมาอีกมากมาย ยกตัวอย่างเช่น น้ำหนักขึ้น โรคเบาหวาน โรคหัวใจ ภูมิคุ้มกันต่ำ อารมณ์แปรปรวน ดังนั้น การนอนหลับพักผ่อนไม่เพียงพอเนื่องจากขาดการออกกำลังกาย อาจเป็นอันตรายถึงชีวิตได้
ผลการศึกษากว่า 29 ชิ้น แสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายช่วยปรับปรุงทั้งระยะเวลาการนอนหลับและคุณภาพการนอนหลับ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการออกกำลังกายกลางแจ้ง ดังนั้น การออกกำลังกายจึงเป็นตัวกระตุ้นการนอนหลับที่มีประสิทธิภาพสูงโดยไม่ต้องพึ่งยา มันจะช่วยให้เรานอนหลับลึก และตื่นมาพร้อมกับความกระปรี้กระเปร่าและสดชื่นในเช้าวันใหม่
2. ความดันโลหิตสูง
การออกกำลังกายช่วยให้หัวใจสูบฉีดเลือดไปเลี้ยงส่วนต่างๆ ในร่างกายได้อย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น หากหัวใจของเราแข็งแรง หัวใจก็จะทำงานหนักน้อยลงและส่งผลให้แรงดันในหลอดเลือดแดงลดลงด้วย แต่ถ้าคุณไม่ออกกำลังกาย เมื่อเวลาผ่านไปจะส่งผลให้สมรรถภาพของหัวใจและระบบทางเดินหายใจลดลง
ผลการศึกษาหนึ่งของเกาหลีใต้ที่ตีพิมพ์ใน American Journal of Human Biology ได้ทดสอบกลุ่มผู้ชาย 3,831 คน ที่ไม่มีประวัติเป็นโรคหัวใจหรือความดันโลหิตสูง โดยให้กลุ่มผู้เข้าร่วมตรวจสุขภาพสองครั้ง ภายในระยะเวลาห่างกันประมาณ 10 ปี นักวิจัยพบว่าอาสาสมัครที่ระดับความฟิตลดลงในช่วงเวลานั้น มีความเสี่ยงเพิ่มขึ้น 72% ในการเกิดความดันโลหิตสูง เมื่อเทียบกับผู้ที่มีระดับความฟิตของหัวใจและหลอดเลือดเพิ่มขึ้น
3. มีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจ
แม้ว่าคุณจะไม่มีปัจจัยเสี่ยงทั่วไปที่ก่อให้เกิดโรคหัวใจ เช่น ความดันโลหิตสูง โคเลสเตอรอลสูง และโรคอ้วน ก็สามารถมีแนวโน้มที่จะเป็นโรคหัวใจอันเนื่องมาจากการไม่ออกกำลังกายได้ ซึ่งนี่เป็นปัจจัยที่ส่งผลกระทบต่อชาวอเมริกันถึง 6 ล้านคนเลยทีเดียว
นักวิจัยของ Johns Hopkins Medicine วิเคราะห์รายงานระดับการออกกำลังกายของคนที่เข้าร่วมในการศึกษามากกว่า 11,000 คน พบว่าการไม่ออกกำลังกายในวัยกลางคนเป็นเวลาหกปีมีความสัมพันธ์กับความเสี่ยงที่เพิ่มขึ้นต่อภาวะหัวใจล้มเหลว โดยมีจำนวนผู้เข้าร่วม 2,530 คน ที่รายงานว่าทำกิจกรรมทางกายลดลง เพิ่มความเสี่ยงต่อภาวะหัวใจล้มเหลว 18% แม้ว่าพวกเขาจะไม่มีประวัติโรคหลอดเลือดหัวใจในช่วงเริ่มต้นของการศึกษาก็ตาม
4. ความจำเสื่อมได้ง่ายขึ้น
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า การออกกำลังกายช่วยส่งเสริมความสามารถของสมองในการสร้างการเชื่อมต่อของเส้นประสาทใหม่และการปรับตัวตลอดชีวิต
ผลงานวิจัยชิ้นหนึ่งที่ตีพิมพ์ในวารสาร Neurology พบว่าคนที่มีระดับความฟิตของร่างกายในวัยหนุ่มสาวจะมีความจำที่ดีขึ้น มีทักษะในการเคลื่อนไหว และมีความสามารถในการจดจ่อและควบคุมอารมณ์มากขึ้นในอีก 25 ปีต่อมาเมื่อพวกเขาอยู่ในวัยกลางคน

5. ระดับความอึดลดลง
การศึกษาของ Journal of Sports Science & Medicine ได้ทำการทดสอบกับกลุ่มนักพายเรือคายัค เพื่อวัดค่า VO2 max ของพวกเขาหลังจากหยุดพักการฝึกไปห้าสัปดาห์ ซึ่งค่า VO2 max เป็นการวัดปริมาณออกซิเจนสูงสุดที่เราสามารถใช้ได้ระหว่างการออกกำลังกายที่เข้มข้น และถือเป็นการทดสอบมาตรฐานเพื่อพิจารณาความสมบูรณ์ของระบบหัวใจและหลอดเลือดของนักกีฬา ผลการทดสอบพบว่า VO2 max ของนักกีฬาลดลงโดยเฉลี่ย 11.3% ชี้ให้เห็นว่าการไม่ออกกำลังกายในช่วงเวลาหนึ่งจะทำให้ระดับความอดทนลดลงตามไปด้วย
6. ควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดไม่ได้
การออกกำลังกายมีบทบาทสำคัญในกระบวนการย่อยสลายคาร์โบไฮเดรต ซึ่งแม้ว่าจะขาดการออกกำลังกายไปบ้าง ก็อาจส่งผลทำให้การควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดลดลงตามไปด้วย อ้างอิงตามการวิจัยล่าสุดในวารสาร Medicine & Science in Sports & Exercise ที่ชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายเป็นส่วนสำคัญของการรักษาระดับกลูโคสระหว่างวัน ซึ่งการลดกิจกรรมประจำวันและการหยุดออกกำลังกาย จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงอย่างเฉียบพลันในร่างกาย ที่มีความเกี่ยวข้องกับโรคเบาหวาน และการพัฒนาของโรคอ้วน แต่ในทางตรงกันข้ามการออกกำลังกายในระดับความเข้มข้นปานกลางเพียงครั้งเดียว ก็สามารถปรับปรุงการควบคุมระดับน้ำตาลในเลือดและลดความเสี่ยงของโรคเบาหวานชนิดที่ 2 ได้
7. เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคมะเร็งบางชนิด
การไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยเสี่ยงต่อภาวะเรื้อรังหลายอย่าง รวมทั้งการเสียชีวิตก่อนวัยอันควร แม้ว่าจะยังไม่มีการศึกษาใดที่พิสูจน์แน่ชัดว่าการไม่ออกกำลังกายทำให้เกิดมะเร็ง แต่การศึกษาเชิงสังเกตที่ผู้เข้าร่วมทดสอบจำนวนมากรายงานผลด้วยตนเองพบว่า มีความเชื่อมโยงระหว่างการออกกำลังกายที่เพิ่มขึ้นกับความเสี่ยงของมะเร็งที่ลดลง
ตัวอย่างเช่น การทบทวนผลการศึกษาในปี 2016 จำนวน 126 ชิ้น พบว่าผู้ที่ออกกำลังกายในระดับสูงสุดมีความเสี่ยงต่อมะเร็งลำไส้ใหญ่ลดลง 19% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีการเคลื่อนไหวร่างกายน้อยที่สุด ในทำนองเดียวกัน การวิเคราะห์อภิมานของการศึกษามะเร็งเต้านมพบว่า ผู้หญิงที่ออกกำลังกายอย่างหนักมีความเสี่ยงลดลง 12 – 21% ในการเป็นมะเร็งเต้านม
8. หัวเข่าและไหล่อาจบาดเจ็บง่าย
เมื่ออายุมากขึ้นการเคลื่อนไหวซ้ำๆ อาจเป็นสาเหตุทำให้มีอาการปวดเมื่อยจากโรคข้อเข่าเสื่อมได้ แต่การไม่ใช้งานก็เป็นสาเหตุของอาการปวดข้อได้เช่นกัน นักวิจัยจาก Harvard Medical School ใน HEALTHBeat กล่าวว่า การเคลื่อนไหวน้อยอาจทำให้กล้ามเนื้ออ่อนแรงลง ซึ่งวิธีแก้ไขสามารถทำได้ไม่ยาก เริ่มต้นจากการเดินเป็นประจำและการออกกำลังกายแบบแอโรบิกอื่นๆ รวมทั้งการฝึกแรงต้านเพื่อเสริมสร้างกล้ามเนื้อและฟื้นฟูความยืดหยุ่นของข้อต่อ
9. คอเลสเตอรอลดีลดลง
การออกกำลังกายแบบแอโรบิกเป็นประจำ เป็นวิธีที่มีประสิทธิภาพมากที่สุดวิธีหนึ่งในการเพิ่ม HDL ซึ่งเป็นคอเลสเตอรอลชนิดดี ช่วยขจัดคอเลสเตอรอลที่เป็นอันตรายออกจากกระแสเลือด และลดความเสี่ยงของโรคหัวใจ ดังนั้น หากคุณไม่ได้ออกกำลังกายเป็นประจำและใช้ระดับความเข้มข้นเพียงพอที่จะเพิ่มอัตราการเต้นของหัวใจ ค่า HDL ในร่างกายก็จะลดลง และคอเลสเตอรอลชนิดไม่ดี (LDL) จะเพิ่มขึ้น
สมาคมโรคหัวใจแห่งอเมริกา แนะนำให้ออกกำลังกายแบบแอโรบิกในความเข้มข้นระดับปานกลาง 150 นาทีต่อสัปดาห์ หรือประมาณวันละ 30 นาที 5 วันต่อสัปดาห์

10. กระดูกอาจเปราะบาง
เมื่อคุณอายุมากขึ้น แคลเซียมจากกระดูกจะถูกดูดซึมกลับเข้าสู่กระแสเลือด ส่งผลให้มวลกระดูกลดลง และอาจนำไปสู่ภาวะกระดูกเปราะ ซึ่งเป็นภาวะที่เรียกว่า “โรคกระดูกพรุน” หนึ่งในวิธีป้องกันการสูญเสียมวลกระดูกคือการออกกำลังกาย หากเราไม่ออกกำลังกาย จะเพิ่มความเสี่ยงต่อความอ่อนแอของกระดูกที่เกี่ยวข้องกับอายุ American College of Sports Medicine แนะนำให้ออกกำลังกายแบบลงน้ำหนัก (weight-bearing exercises) เช่น วิ่งเหยาะๆ เต้นแอโรบิก เทนนิส และบาสเก็ตบอล นอกจากนี้ยังแนะนำให้ฝึกความต้านทานอย่างพวกเวทเทรนนิ่งเพื่อเพิ่มความหนาแน่นของกระดูก
11. เสี่ยงเป็นโรคซึมเศร้า
แม้ว่าภาวะซึมเศร้าจะส่งผลให้เรารู้สึกไม่อยากทำกิจกรรมอะไร แต่การออกกำลังกายก็เป็นวิธีบำบัดสำหรับผู้ที่มีอาการวิตกกังวลและภาวะซึมเศร้าได้โดยที่ไม่ต้องใช้ยา
แม้ว่าเราจะไม่มีอาการป่วยซึมเศร้า แต่การไม่ทำกิจกรรมใดๆ อาจทำให้มีความเสี่ยงที่จะมีอาการซึมเศร้ามากขึ้นได้ การวิเคราะห์การศึกษาเชิงสังเกตชี้ให้เห็นว่าการออกกำลังกายสามารถป้องกันภาวะซึมเศร้าได้ แม้ว่าผลการศึกษาบางชิ้นจะแสดงให้เห็นว่าการออกกำลังกายแบบความเข้มข้นต่ำและระดับความเข้มข้นสูงต่างก็มีประสิทธิภาพในการลดแนวโน้มที่จะเป็นโรคซึมเศร้าได้ ซึ่งผลการศึกษาจำนวนหนึ่งพบว่าการออกกำลังกายอย่างหนักมีผลในการป้องกันมากที่สุด
12. น้ำหนักตัวอาจเพิ่ม
ผู้เชี่ยวชาญส่วนใหญ่ยอมรับว่านิสัยการกินมีบทบาทในการเพิ่มหรือลดน้ำหนักมากกว่าการออกกำลังกาย อย่างไรก็ตาม การวิจัยจำนวนมากได้แสดงให้เห็นความสัมพันธ์ระหว่างโรคอ้วนกับการใช้ชีวิตแบบเคลื่อนไหวน้อย
หนึ่งในการศึกษาโดยนักวิจัยของมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดที่ตีพิมพ์ในวารสารการแพทย์อเมริกันดูผลลัพธ์ระยะยาวจากผู้เข้าร่วมมากกว่า 17,000 คนในแบบสำรวจการตรวจสุขภาพและโภชนาการแห่งชาติ ผลการวิเคราะห์พบว่าตั้งแต่ปี 1988 ถึง 2010 เปอร์เซ็นต์ของผู้ใหญ่ที่ไม่ได้ออกกำลังกายเพิ่มขึ้นจาก 19% เป็น 52% ในผู้หญิงและจาก 11% เป็น 43% ในผู้ชาย ในช่วงเวลาเดียวกันนั้น นักวิจัยพบว่าอัตราการเพิ่มของโรคอ้วนในผู้หญิงเพิ่มขึ้นจาก 25% เป็น 35% และจาก 20% เป็น 35% ในผู้ชาย
บทสรุป
การไม่ออกกำลังกายเป็นปัจจัยที่ทำให้ผู้คนเสียชีวิตก่อนวัยอันควรได้ อ้างอิงจากผลการศึกษาที่ตีพิมพ์ในThe Lancet พบว่าการไม่ออกกำลังกายและการเคลื่อนไหวร่างกายน้อย เพิ่มความเสี่ยงของการเกิดโรคสำคัญหลายชนิด เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ โรคเบาหวานชนิดที่2 มะเร็งเต้านมและมะเร็งลำไส้ใหญ่ เป็นต้น
ดังนั้น ทุกคนควรรักษาสุขภาพเพื่อให้ร่างกายและจิตใจแข็งแรง ด้วยการออกกำลังกายเป็นประจำดีที่สุด
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3cqhfcC
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming