เคยสังเกตตัวเองไหม ทำไมวิ่งแล้วรู้สึกดี แทนที่จะรู้สึกเหนื่อยเมื่อยล้า แถมยังรู้สึกว่ามีแรงเหลืออยากวิ่งต่อไปเรื่อยๆ รู้สึกเหมือนเสพติดการวิ่ง อยากออกไปวิ่งทุกวัน นี่คุณอาจกำลังอยู่ในอาการ Runner’s High อย่างที่หลายคนเขาพูดถึงกันอยู่ก็ได้ มาหาคำตอบไปพร้อมกันว่า Runner’s High คืออะไร และมีผลต่อนักวิ่งอย่างไร
Runner’s High คืออะไร
Runner’s High คือ ความรู้สึกอิ่มอกอิ่มใจ ปลื้มปิติยินดี ที่ตัวเองสามารถพิชิตเป้าหมายที่วางไว้ได้สำเร็จ มักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราออกกำลังกายหนักๆ หรือเป็นเวลานาน โดยนักวิ่งจะรู้สึกผ่อนคลาย สบายๆ และยังรู้สึกว่าตัวเองมีแรงเหลือมากพอที่จะวิ่งต่อได้อีกสัก 3-5 กม.
หลายคนมักเรียกความรู้สึกนี้ว่า “อาการเสพติดการวิ่ง” วิ่งจบ แต่ความรู้สึกไม่จบ ยังคงมีความสุขต่อเนื่อง และอยากวิ่งต่อไปอีก แต่ไม่ใช่ทุกคนที่วิ่งหรือออกกำลังกายอย่างเข้มข้นจะได้สัมผัสกับความรู้สึกนี้ ขึ้นอยู่กับประสบการณ์ส่วนตัวของแต่ละคนด้วย ซึ่งความรู้สึกดีหลังวิ่งนี้ ก็ยากที่จะวัดผลได้อย่างชัดเจน
นอกจากความรู้สึกดีแล้ว นักวิ่งหลายคนที่ได้สัมผัสความรู้สึกนี้ ยังพบว่าตัวเองรู้สึกวิตกกังวลและเจ็บปวดน้อยลงทันทีหลังจากวิ่ง เพราะเหตุใดร่างกายจึงตอบสนองเช่นนั้น?
ร่างกายและสมองตอบสนองต่อการวิ่งอย่างไร
อาการเสพติดการวิ่ง ไม่ได้มีข้อดีเพียงแค่ในด้านความรู้สึกเท่านั้น แต่ยังมีประโยชน์ในด้านกายภาพอีกหลายอย่าง ซึ่งเป็นผลมาจากสารเคมีที่ร่างกายปล่อยออกมาเมื่อเราวิ่ง
การวิ่งและการออกกำลังกายแบบแอโรบิก ร่างกายจะหลั่งสารเอ็นดอร์ฟินเข้าสู่กระแสเลือด ซึ่งเป็นสารแห่งความสุขที่ทำให้เรารู้สึกดีและมีความสุข นอกจากนี้ยังช่วยให้เรารู้สึกเจ็บปวดน้อยลงขณะวิ่ง โดยทำหน้าที่เป็นยาแก้ปวดตามธรรมชาติ ช่วยให้เราสามารถออกกำลังกายได้นานขึ้น
นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า “เอ็นดอร์ฟิน” มีส่วนทำให้เกิดอาการ Runner’s High แต่ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา การวิจัยพบว่าเอ็นดอร์ฟินอาจไม่มีส่วนเกี่ยวข้องมากนัก งานวิจัยใหม่ชี้ไปที่โมเลกุลประเภทอื่น ได้แก่ Endocannabinoids โมเลกุลเหล่านี้มีผลต่อระบบเอ็นโดแคนนาบินอยด์ของร่างกาย ซึ่งเป็นระบบเดียวกับที่ร่างกายได้รับสาร Tetrahydrocannabinol (THC) ซึ่งเป็นสารประกอบในกัญชา ที่ออกฤทธิ์ต่อจิตประสาท ทำให้รู้สึกเคลิ้มสบาย
Endocannabinoid ชนิดหนึ่งที่เรียกว่า anandamide ซึ่งพบได้ในปริมาณระดับสูงในเลือดของผู้ที่เพิ่งวิ่งเสร็จ งานวิจัยบางชิ้นชี้ให้เห็นว่าอะนันดาไมด์อาจทำให้นักวิ่งเกิดอาการ Runner’s High โดยส่งผลให้เกิดผลกระทบทางจิตในระยะสั้น เช่น
- ลดความวิตกกังวล
- ความอิ่มอกอิ่มใจ
- ความรู้สึกสงบผ่อนคลาย
ปัจจุบัน งานวิจัยที่ศึกษาว่าสมองและร่างกายตอบสนองต่อ Endocannabinoids หลังออกกำลังกายนั้นยังค่อนข้างจำกัด โดยมีเพียงการศึกษาในปี 2015 ที่ทำการทดลองกับหนูเท่านั้น ซึ่งยังไม่ได้ยืนยันชัดเจนว่าผลลัพธ์แบบเดียวกันนี้จะเกิดขึ้นในมนุษย์หรือไม่ ดังนั้น เรื่องนี้ยังต้องมีการวิจัยกันต่อไป
บทสรุป
แม้ว่านักวิ่งหลายคนอาจจะยังไม่เคยได้สัมผัสและลิ้มรสอาการเสพติดการวิ่งนี้ แต่จงอย่าลืมว่าการออกกำลังกายอย่างการวิ่ง ก็เป็นทางเลือกที่ดีต่อสุขภาพ ทำให้เราผ่อนคลาย และมีร่างกายที่แข็งแรง ทั้งหมดนี้ก็เป็นเหตุผลเพียงพอที่จะทำให้เรารู้สึกดีได้เช่นเดียวกัน แม้ไม่ได้อยู่ในจุดที่เรียกว่า Runner’s High ก็ตาม
แหล่งที่มา : https://bit.ly/3yFyuj3
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming