องค์การอนามัยโลก (WHO) เผยแนวทางในการออกกำลังกาย ฉบับล่าสุด เน้นทำกิจกรรมตามช่วงอายุ
องค์การอนามัยโลก (World Health Organization – WHO) ได้เผยแพร่แนวทางในการออกกำลังกายฉบับใหม่ ออกมาล่าสุดเมื่อวันที่ 25 พฤศจิกายน 2020 ซึ่งถือเป็นการอัปเดตข้อมูลในรอบ 10 ปี (นับตั้งแต่ปี 2010)
ใจความสำคัญยังคงมุ่งเน้นให้คนทุกเพศทุกวัย ใช้เวลาในการออกกำลังกาย อย่างน้อยครั้งละ 10 นาที ไม่เว้นแม้แต่เด็กทารก ก็ยังมีกิจกรรมที่ต้องทำเพื่อบริหารร่างกายด้วยเช่นเดียวกัน
หลักเกณฑ์การทำกิจกรรมออกกำลังกายตามอายุ

หลักเกณฑ์ต่อไปนี้ เป็นคำแนะนำที่รวมถึงบุคคลดังต่อไปนี้ด้วย ได้แก่ ผู้หญิงที่กำลังตั้งครรภ์ ผู้หญิงที่อยู่ในภาวะหลังคลอด ผู้ป่วยเรื้อรัง และผู้พิการ
- เด็กทารก
WHO แนะนำให้เด็กทารกอยู่ในท่านอนคว่ำ อย่างน้อย 30 นาทีต่อวัน หรือที่เรียกกันว่า การฝึกคว่ำ (Tummy Time) ซึ่งเป็นการเสริมพัฒนาการทางกล้ามเนื้อและระบบประสาท ไม่ควรปล่อยให้นั่งอยู่นิ่งๆ หรือนั่งอยู่ในรถเข็นเด็กเกิน 60 นาที - ผู้ใหญ่ อายุ 18-64 ปี
ผู้ใหญ่ที่ไม่มีปัญหาทางการแพทย์และอยู่ในช่วงอายุนี้ ควรทำกิจกรรมออกกำลังกายแบบแอโรบิคที่มีระดับความเข้มข้นปานกลาง อย่างน้อย 150-300 นาทีต่อสัปดาห์ หรือทำกิจกรรมที่มีความเข้มข้นสูง 75-150 นาที นอกจากนี้ WHO แนะนำให้ทำกิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อ เน้นบริหารกลุ่มกล้ามเนื้อหลัก อย่างน้อยสองวันต่อสัปดาห์หรือมากกว่านั้น - ผู้สูงอายุ
สำหรับผู้ที่มีอายุเกิน 65 ปี องค์การอนามัยโลกแนะนำให้ฝึกการทรงตัวและการฝึกความแข็งแรงของกล้ามเนื้อ อย่างพวก strength training ที่อยู่ในระดับความเข้มข้นปานกลางหรือมากกว่า อย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์ เพื่อป้องกันการหกล้มและปรับปรุงการทำงานโดยรวมของร่างกาย - เด็กและวัยรุ่น
คำแนะนำสำหรับเด็กจะแตกต่างจากคำแนะนำสำหรับผู้ใหญ่ คือ จะเป็นแนวทางปฏิบัติ “ต่อวัน” ไม่ใช่ต่อสัปดาห์ โดยเด็กและวัยรุ่นควรทำกิจกรรมที่มีความเข้มข้นปานกลางถึงหนัก อย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงทุกวัน และทำกิจกรรมเสริมสร้างกล้ามเนื้อ อย่างน้อยสามวันต่อสัปดาห์
ในรายงานมีข้อมูลที่ระบุว่า หากปฏิบัติกิจกรรมหรือออกกำลังกายต่ำกว่าเกณฑ์ตามที่ WHO แนะนำ จะทำให้เพิ่มความเสี่ยงในการเป็นโรคต่าง ๆ รวมถึงความผิดบางอย่างในร่างกาย ต่อไปนี้
- โรคมะเร็ง
- โรคเบาหวาน
- โรคหัวใจและหลอดเลือด
- อาการซึมเศร้า
- พัฒนาการด้านความรู้ความเข้าใจ
- การเจริญเติบโตและพัฒนาการของเด็กและวัยรุ่น
- การหกล้มและการเคลื่อนไหวของผู้สูงอายุ
บทสรุป
WHO ยังเน้นย้ำให้ลดพฤติกรรมเนือยนิ่ง อย่างการนั่งๆ นอนๆ ที่ไม่ค่อยได้ขยับร่างกาย เช่น ดูทีวี เล่นมือถือ นั่งทำงานนานๆ เพราะพฤติกรรมเหล่านี้มีความเสี่ยงต่อการเสียชีวิตเพิ่มขึ้นถึง 30% เมื่อเทียบกับผู้ที่มีการเคลื่อนไหวหรือออกกำลังกายเป็นประจำ โดยเฉพาะเด็กและวัยรุ่นควรลดเวลาในการใช้หน้าจอให้น้อยลง
ที่มา : https://bit.ly/34wv1DQ
เปิดกรุ๊ปให้เพื่อนๆ ที่รักการวิ่ง ไปคุยกัน
🏃 ♂ bit.ly/VRUNGROUP
.
#วิ่งไหนกันปั่นไหนดี #Sports #Running
#Cycling #Triathlon #Swimming